ข้อควรรู้เกี่ยวกับ วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

617
ข้อควรรู้เกี่ยวกับ วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
ข้อควรรู้เกี่ยวกับ วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เป็นสถาบันผลิตแพทย์ทหารแห่งเดียวในประเทศไทย ถูกก่อตั้งเป็นสถาบันแพทยศาสตร์ลำดับที่ 7 ของประเทศไทย ตัววิทยาลัยจะดำเนินงานร่วมกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารบก และดำรงสถานะสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล

วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า มีชื่อย่อคือ วพม. ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2518 จากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เหตุเพราะความจำเป็นที่ทางราชการทหารจะต้องจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นเอง เพื่อที่จะได้ผลิตบัณฑิตแพทย์ให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม ให้แก่กองทัพละประเทศชาติ โดยผลผลิตของ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้านั้นได้ปฏิบัติหน้าที่และผลงานต่างๆ ไว้มากมายทั้งภายใน และภายนอกประเทศที่เป็นประโยชน์และนำมาซึ่งชื่อเสียงแก่ให้กองทัพและประเทศชาติมาจวบจนถึงปัจจุบัน

วิสัยทัศน์ พันธกิจ และคำขวัญ

  • วิสัยทัศน์
    • ” โรงเรียนแพทย์ชั้นนำในเอเชียที่เชี่ยวชาญ ด้านเวชศาสตร์ทหาร “
  • คำขวัญ
    • ” วิชายอด วินัยเยี่ยม เปี่ยมคุณธรรม “
  • พันธกิจ
    • จัดการศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีคุณภาพระดับสากล ผลิตผลงานวิจัยระดับนานาชาติที่มีมาตรฐานสูง โดยเฉพาะด้านเวชศาสตร์ทหาร สร้างสรรค์บริการทางวิชาการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย และแบบธรรมเนียมทหาร

ค่านิยมในการเป็นนักเรียนที่ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

ค่านิยมในการเป็นนักเรียนที่ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า คือ “สามัคคี มีวินัย ใส่ใจผู้เรียน ผลงานเป็นเลิศ” โดยจะมีความหมายดังนี้

  • สามัคคี : มุ่งเน้นบุคคลากร
  • มีวินัย : ภาวะผู้นำ ความซื่อสัตย์ ระบบเกียรติศักดิ์ จรรยาบรรณวิชาชีพ
  • ใส่ใจผู้เรียน : มุ่งเน้นผู้เรียน ใช้ข้อมูลในการทำงาน ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ มุ่งเน้นอนาคต สร้างสรรค์นวัตกรรม และความคล่องตัว
  • ผลงานเป็นเลิศ : มุ่งเน้นผลลัพธ์

ตราสัญญาลักษณ์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

ตราสัญญาลักษณ์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า จะมีรูปเป็น พระมหาพิชัยมงกุฎสีทอง ถือเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์ มีรัศมี 17 แฉกล้อมแสดงถึงความรุ่งโรจน์กึ่งกลางพระมหาพิชัยมงกุฎมีเครื่องหมายอุณาโลม ซึ่งในแต่ละส่วนของตราสัญญาลักษณ์ ก็มีความหมายแตกต่างกันดังนี้

  • พระมหาพิชัยมงกุฎพร้อมรัศมี หมายถึง ราชอิสริยาภรณ์ ราชาธิปไตย อันเป็นเครื่องประดับพระเศียร พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีสร้างในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงสวมในพิธีพระบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีสำคัญ
  • ลข ๖ ในวงกลม หมายถึง รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงสร้างพระราชวังพญาไท ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้ง วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ปัจจุบัน (บางส่วน)
  • รร ในวงกลม หมายถึง พระปรมาภิไธยย่อ รามรามาธิบดี ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • พญานาค หมายถึง วิชาแพทย์ที่พระวิศวามิตร์เล่าไว้ในบ่อเกิดรามเกียรติ์ว่า เทวดา และอสูร ที่ต้องการเป็นอมตะจึงทำพิธีกวนเกษียรสมุทร โดยใช้เขามนทรคีรีเป็นไม้กวน นำพญาวาสุกรีเป็นเชือก เป็นผลให้เกิดประถมแพทย์ ธันวันตะรี ผู้ชำนาญในอายุรเวท

การเรียนการสอนวิชาแพทย์ในแต่ละชั้นปี วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

การเรียนการสอนวิชาแพทย์ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าในแต่ละชั้นปี แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

  • ปีที่ 1 ชั้นเตรียมแพทย์ จะได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้นิสิตเตรียมแพทย์ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าศึกษาที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยการศึกษาจะอยู่ในความรับผิดชอบตามกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • ปีที่ 2 – 3 ชั้นปรีคลินิก จะได้รับการจัดการเรียนการสอน ณ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า (เดิมการเรียนการสอนใช้สถานที่สถาบันพยาธิวิทยา กรมแพทย์ทหารบก ในบริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) ต่อเป็นเวลา 2 ปี
  • ปีที่ 4 – 6 ชั้นคลินิก จะใช้สถานที่ของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เป็นเวลา 3 ปี

วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ภาควิชา ชั้นปรีคลินิก และภาควิชา ชั้นคลินิก

  • วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ภาควิชา ชั้นปรีคลินิก มีทั้งหมดดังต่อไปนี้
    • ภาควิชากายวิภาคศาสตร์
    • ภาควิชาชีวเคมี
    • ภาควิชาสรีรวิทยา
    • ภาควิชาเภสัชวิทยา
    • ภาควิชาจุลชีววิทยา
    • ภาควิชาพยาธิวิทยา
    • ภาควิชาปรสิตวิทยา
    • ภาควิชาเวชศาสตร์ทหารและชุมชน
  • วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ภาควิชา ชั้นคลินิก มีทั้งหมดดังต่อไปนี้
    • ภาควิชาอายุรศาสตร์
    • ภาควิชาศัลยศาสตร์
    • ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
    • ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
    • ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์
    • ภาควิชาจิตเวชและประสาทวิทยา
    • ภาควิชาวิสัญญีวิทยา
    • ภาควิชารังสีวิทยา
    • ภาควิชาจักษุวิทยา
    • ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
    • ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
    • ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
    • ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว