ประวัติความเป็นมา อำนาจหน้าที่ สวัสดิการและความก้าวหน้าของข้าราชการตำรวจ

1808
สวัสดิการและความก้าวหน้าของข้าราชการตำรวจ
สวัสดิการและความก้าวหน้าของข้าราชการตำรวจ

การเลือกอาชีพมีความสำคัญสำหรับทุกคน และคนที่มีโอกาสก็จะให้โอกาสตนเองเลือกอาชีพที่ดีที่สุด “ข้าราชการตำรวจ” เป็นหนึ่งในหลาย ๆ อาชีพที่ทุกคนเชื่อมั่นว่ามีความก้าวหน้าและมั่นคง เห็นได้จากการเปิดสอบนายร้อยตำรวจในแต่ละปี ทั้งสายตรง(นักเรียนนายร้อยตำรวจ) และเปิดรับจากบุคคลภายนอก มีผู้สนใจสมัครสอบข้าราชการเป็นจำนวนมากทุกปี ติวสอบนายร้อยตำรวจ ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้ทุกคนมีโอกาสประสบความสำเร็จในการสอบ บทความนี้ Nine100.com มีความรู้เกี่ยวกับข้าราชการตำรวจมาแนะนำ

ตำรวจไทยในอดีต

ประวัติความเป็นมาของตำรวจไทยในอดีต และวิวัฒนาการของตำรวจไทยแบ่งออกเป็นยุคใหญ่ ๆ 3 ยุค ได้แก่ ยุคที่ 1 กิจการตำรวจที่มีมาก่อนพ.ศ.2403 ยุคที่ 2 กิจการตำรวจระหว่าง พ.ศ. 2403 ถึง พ.ศ. 2475 และยุคที่ 3 กรมตำรวจยุคนี้เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ถึงปัจจุบัน

ยุคที่ 1 กิจการตำรวจที่มีมาก่อนพ.ศ.2403

            ยุคที่ 1 เรียกว่า “ตำรวจโบราณ” ไม่สามารถหาหลักฐานที่แน่นอนได้  สันนิษฐานกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี  อย่างไรก็ตามได้มีการพบหลักฐานที่แน่ชัดในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  พบว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราระเบียบการปกครองบ้านเมืองเป็น 4 เหล่า  เรียกว่า จตุสดมภ์ ได้แก่ เวียง วัง คลัง นา  และบุคคลที่จะเป็นตำรวจได้นั้นมีเอกสารหลักฐานหลายประการแสดงให้เห็นว่าบุคคลที่จะเป็นตำรวจได้นั้น ต้องคัดเลือกจากผู้ที่มีชาติกำเนิดสืบเชื้อสายมาจากตระกูลที่ได้ทำคุณความดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และต้องเป็นบุคคลที่ทรงวางพระราชหฤทัย การบังคับบัญชาตำรวจก็ต้องขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะแต่พระองค์เดียว ทำให้ตำรวจไทยในยุคนั้นจัดดตั้งขึ้นเพื่อให้ทำหน้าที่ในวงจำกัด

ยุคที่ 2 กิจการตำรวจระหว่าง พ.ศ. 2403 ถึง พ.ศ. 2475

            ต่อมาเมื่อประเทศไทยมีการติดต่อกับชาวต่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามแบบอย่างประเทศตะวันตก เรียกว่า สมัยปฏิรูป ซึ่งได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวคือในปี พ.ศ. 1405 ได้ว่าจ้าง กัปตัน เอส.เยเบิร์ดเอมส์ (Capt.S.J.Bird Ames) ชาวอังกฤษ ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็น หลวงรัฐยาภิบาลบัญชา มาเป็นผู้พิจารณาวางโครงการจัดตั้งกองตำรวจสำหรับรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเขตนครหลวงตามแบบอย่างยุโรปขึ้นเป็นครั้งแรก

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ขยายงานตำรวจนครบาล โดยให้ นาย เอ.เย.ยาดิน (A.J.Jardine) มาช่วยงานเพิ่มขึ้น และยังได้จัดตั้งตำรวจภูธรขึ้นในรูป ทหารโปลิศ สำหรับเป็นกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในส่วนภูมิภาคและให้สามารถปฏิบัติการทางทหารได้ด้วย โดยว่าจ้าง  นาย ยี.เชา. (G.Schau) ชาวเดนมาร์คมา  เป็นผู้วางโครงการ ผู้บังคับบัญชาส่วนมากก็โอนมาจากนายทหาร ต่อมาได้เปลี่ยนกองทหารโปลิศ เป็นกรมกองตระเวนหัวเมือง และได้ตั้งกรมตำรวจภูธรขึ้นแทนกรมกองตระเวนหัวเมือง โดยมี  พลตรีพระยาวาสุเทพ(ยี.เชา.) เป็นเจ้ากรมตำรวจภูธร เมื่อได้จัดตั้งกรมตำรวจภูธรขึ้นแล้วก็ได้มีการขยายการตำรวจไปยังหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคตามลำดับ เพื่อให้มีกำลังตำรวจสำหรับป้องกันปราบปรามโจรผู้ร้าย อำนวยความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง

ยุคที่ 3 กรมตำรวจยุคนี้เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ถึงปัจจุบัน

            ในยุคที่ 2 กิจการตำรวจได้พัฒนาและมีวิวัฒนาการมาตามลำดับ มาจนถึงยุคที่ 3 ถือเป็นยุคประชาธิปไตย เพราะหลังจากที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว กิจการตำรวจได้แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นหน่วยบริหารงานส่วนกลาง ส่วนที่ 2 คือ ตำรวจนครบาล ส่วนที่ 3 คือตำรวจภูธร และส่วนที่ 4 คือตำรวจสันติบาล หลังจากที่ได้ปรับปรุงกิจการตำรวจเพื่อวางรากฐานตำรวจในระบอบประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ. 2475 แล้ว ได้มีการเปลี่ยนแปลงงานตำรวจอีกไม่น้อยกว่า 30 ครั้งจนถึงปัจจุบัน

อำนาจหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ

ข้าราชการตำรวจ ได้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง มีฐานะเป็นกรม และอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

  • รักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาทผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ
  • ดูแลควบคุมและกำกับการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจซึ่งปฏิบัติการตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา
  • ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญากฎหมายบ้านเมือง
  • รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงของชาติบ้านเมือง
  • ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายบ้านเมืองกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของข้าราชการตำรวจหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • ช่วยเหลือการพัฒนาประเทศชาติตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
  • ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้การปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (5) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สวัสดิการและความก้าวหน้าของข้าราชการตำรวจ

ข้าราชการตำรวจ นอกจากเป็นงานที่มีความมั่นคงและมีอนาคตที่ดีแล้ว ยังเป็นอาชีพที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับพ่อแม่ญาติพี่น้อง  ทำให้พ่อแม่มีหลักประกันในการรักษาพยาบาลฟรีเมื่อเกิดการเจ็บป่วย ซึ่งสวัสดิการและความก้าวหน้าของข้าราชการตำรวจทั้งชั้นประทวนและสัญญาบัตรนั้น มีทั้งที่กำหนดให้เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน ดังนี้

  • สวัสดิการเกี่ยวกับการลา ระเบียบการลาของข้าราชการแบ่งออกเป็น 9 ประเภท คือ การลาป่วย ลาคลอดบุตร (90 วัน) ลากิจส่วนตัว (45 วัน)  การลาพักผ่อน(สูงสุด 30 วัน) การลาอุปสมบท (120 วะร )หรือการลาไปประกอบพิธีฮัจญ์  การลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล การลาไปศึกษาได้ถึง 4 ปี (โดยยังมีเงินเดือน) ลาเข้ารับการฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัย การลาไปปฏิบัติงานในองค์กรระหว่างประเทศ และ การลาติดตามคู่สมรส
  • เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล สามารถเบิกได้ทั้งค่ารักษาพยาบาลพ่อแม่ คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เป็นคนไร้ความสามารถ
  • เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร สามารถเบิกค่าเล่าเรียนบุตรได้ถึง 3 คน จนมีอายุครบ 25 ปี (สถานศึกษาภาครัฐและเอกชน)
  • สวัสดิการเกี่ยวกับอาคารบ้านของทางราชการ กรณีไม่มีบ้านพักสามารถใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน ได้ตามระเบียบกระทรวงการคลัง
  • มีเงินเบี้ยเลี้ยง เดินทางไปราชการทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ค่าเช่า ที่พัก ค่าพาหนะ ค่าเช่าพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และอื่น ๆ
  • เงินเพิ่มพิเศษ ตามตำแหน่งงาน ค่าล่วงเวลา(OT) และอื่น ๆ เช่น การทำงานนอกวันทำการ (วันจันทร์ถึงวันศุกร์) หรือนอกเวลาราชการ (เวลาระหว่าง 08.30 ถึง 16.30 น. ของวันทำการ) การเบิกเงินตอบแทนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และอัตรา
  • ความก้าวหน้าในหน้าที่ มีโอกาสได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือน ปีละ 2 ครั้ง
  • รับสวัสดิการค่าตัดเครื่องแบบปีละ 2,000 บาท
  • ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ คือ สิ่งที่เป็นเครื่องหมายแสดงเกียรติยศ และบำเหน็จความชอบที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในพระองค์  (เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล)
  • ได้รับสินเชื่อสวัสดิการเงินกู้กองกลาง ตร. (ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ต่ำกว่าธนาคาร)
  • มีสวัสดิการสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ (ให้ดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงมาก)
  • สวัสดิการเงินกู้ เพื่อที่อยู่อาศัย หรือสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยของข้าราชการ
  • เงินช่วยเหลือข้าราชการตำรวจที่เสียชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่
  • มีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเป็นสวัสดิการ(ไว้ใช้ในยามแก่เฒ่า)
  • มีเงินบำเหน็จบำนาญ หมายถึง สวัสดิการและสิทธิประโยชน์เมื่อพ้นจากราชการ (ไว้ใช้ในยามเกษียณ)
  • มีรถราชการหรือรถประจำตำแหน่งให้ใช้ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ

สวัสดิการและความก้าวหน้าของข้าราชการตำรวจ ทั้งสายตรงที่สอบผ่านการเป็นนักเรียน โรงเรียนนายร้อยตำรวจ หรือบุคคลภายนอกที่สอบบรรจุเข้ามาจากการเปิดสอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นอกจากจะได้รับสวัสดิการต่าง ๆที่แสดงถึงความมั่นคงในอาชีพแล้ว ในแต่ละสายงานยังมีความก้าวหน้า เช่น ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนมีสิทธิสอบนายร้อยตำรวจ หรือข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรสามารถไปศึกษาได้ถึง 4 ปีโดยยังมีเงินเดือน สำหรับคนที่มีความมุ่งมั่น ขยันอ่านหนังสือ ขยันติว มีวินัยในการเตรียมความพร้อมของตนเอง การสอบนายร้อยตำรวจหรือสอบเพื่อบรรจุรับราชการตำรวจ ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จ และสามารถสอบบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจอาชีพได้อย่างที่ตั้งใจไว้