นายร้อยตำรวจ สายงานป้องกันปราบปราม และบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ

2363
นายสิบตำรวจ ปราบปราม 2018
นายสิบตำรวจ ปราบปราม 2018

การเตรียมตัวสอบเพื่อเข้าเป็นนายร้อยตำรวจ ที่จะเปิดรับสมัครนักเรียนายร้อย ทั้งการสอบสายตรงเข้าเรียนเตรียมทหารก่อนเลือกเหล่าตำรวจ หรือสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจโดยไม่ต้องเรียนเตรียมทหาร ก็เป็นเส้นทางที่สามารถทำได้ สำหรับรายละเอียดการสอบในเส้นทางต่าง ๆ Nine 100.com  ได้แนะนำไว้ในบทความก่อนหน้านี้ ส่วนบทความนี้เรามีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในสายงานป้องกันปราบปราม มานำเสนอเพื่อเป็นความรู้ให้กับว่าที่นักเรียนนายร้อยตำรวจและผู้ที่สนใจ

โครงสร้างสถานีตำรวจ

            สถานีตำรวจ เป็นระดับหน่วยงานหนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และตามกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดในคดีอาญา ภายในเขตอำนาจการรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครอง ตลอดถึงการรับผิดชอบในด้านการงานและการปกครองบังคับบัญชาถัดรองลงไปจากกองบังคับการตำรวจ นครบาล(1-9) หรือตำรวจภูธรจังหวัด บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของสายงานต่าง ๆ ในสถานีตำรวจ แบ่งออกเป็น  5  ลักษณะ ได้แก่

1. งานอำนวยการ

งานด้านอำนวยการ มีหน้าที่เกี่ยวกับการอำนวยการ การวางแผน การตรวจสอบติดตามและประเมินผลงานที่เกี่ยวกับนโยบาย  ยุทธศาสตร์ และแผนงานของสถานีตำรวจ งานการบริหารบุคลากร งานจเรตำรวจ งานกิจการพิเศษ งานความมั่นคง การศึกษา การฝึกอบรม งานวิชาการ สวัสดิการ การพัฒนา การบริหารจัดการ งบประมาณ การเงิน การพัสดุ การพลาธิการและ สรรพวุธ การส่งกำลังบำรุง รวมทั้งลักษณะงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือเป็นส่วนประกอบของงานดังกล่าว เพื่อส่งเสริมหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจ

2. งานปกครองป้องกัน

งานด้านปกครองป้องกัน มีหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน  อำนวยการ สั่งการ ควบคุม กำกับ ดูแล ตรวจสอบติดตามและประเมินผล ตลอดจนปฏิบัติงานในด้านการป้องกันอาชญากรรมและรักษาความสงบเรียบร้อย งานคณะกรรมการตรวจสอบ และติดตามการบริหารงานตำรวจ งานชุมชนและมวลชนสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งงานที่มีลักษณะเกี่ยวข้องหรือเป็นส่วนประกอบของงานนี้ เพื่อมิให้เกิดอาชญากรรมขึ้นในเขตอำนาจการรับผิดชอบหรือพื้นที่ปกครองของสถานีตำรวจ

3. งานจราจร

งานด้านจราจร มีหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน  อำนวยการ สั่งการ ควบคุม กำกับ ดูแล  ตรวจสอบและประเมินผลงานด้านการควบคุมจราจร จัดการและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับจราจร งานจราจรตามโครงการพระราชดำริ รวมทั้งงานที่มีลักษณะเกี่ยวข้อง หรือเป็นส่วนประกอบของงานนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาด้านการจราจร ในเขตอำนาจการรับผิดชอบหรือพื้นที่ปกครองของสถานีตำรวจ ตลอดจนพื้นที่ที่มีการจราจรต่อเนื่องกัน

4. งานสืบสวนปราบปราม

งานด้านสืบสวนปราบปราม มีหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน  อำนวยการ สั่งการ ควบคุม กำกับ ดูแล ตรวจสอบติดตามและประเมินผล ตลอดจนปฏิบัติงานในด้านการสืบสวนปราบปราม อาชญากรรม การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญาทุกฉบับตลอดจนองค์กรหรือเครือข่ายที่อยู่เบ้องหลัง รวมทั้งงานที่มีลักษณะเกี่ยวข้อง หรือเป็นส่วนประกอบของงานนี้ เพื่อมิให้เกิดอาชญากรรมขึ้นในเขตอำนาจการรับผิดชอบหรือพื้นที่ปกครองของสถานีตำรวจ

5. งานสืบสวนสอบสวน

งานด้านสืบสวนสอบสวน มีหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน  อำนวยการ สั่งการ ควบคุม กำกับ ดูแล ตรวจสอบติดตามและประเมินผลด้านการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา การมีความเห็น การให้ความเห็นชอบ หรือการเห็นแย้งในคดีอาญา การอุทธรณ์ ฎีกา หรือการขอให้พิจารณาคดีใหม่ รวมทั้งงานที่มีลักษณะเกี่ยวข้อง หรือเป็นส่วนประกอบของงานนี้ เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาให้บังเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในเขตอำนาจการรับผิดชอบหรือพื้นที่ปกครองของสถานีตำรวจ

บทบาทหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ

            ตำรวจ ถือเป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม และจับกุมผู้กระทำผิด และยังทำหน้าที่ทั้งด้านการปกครอง คอยสอดส่องดูแลทุกข์สุข ตลอดจนสวัสดิภาพของประชาชน บทบาทหน้าของข้าราชการตำรวจนับว่ามีภาระหนัก และต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่สูง ดังนั้น การสอบนายร้อยตำรวจต่างๆนั้นจึงต้องเตรียมความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ต้องมีความรู้ ความสามารถ มีความเข้มแข็ง อดทนและมีความเสียสละ ในการปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ ดังนี้

  1. หน้าที่ผู้รักษากฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่มีลักษณะทางอาญาซึ่งมีการกำหนด โทษ ผู้ฝ่าฝืนเอาไว้ เพื่อป้องกันสังคมไม่ให้เกิดอันตรายจากการกระทำเหล่านั้น หากมีการฝ่าฝืนก็กำหนดบทลงโทษไว้ หน้าที่ของตำรวจจึงต้องป้องกันไม่ให้มีผู้กระทำผิด หากฝ่าฝืนหรือทำผิดกฎหมายก็มีหน้าที่ต้องจับกุมมาดำเนินคดี ฟ้องร้องตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป
  2. หน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย หมายถึง การที่ตำรวจจะต้องตรวจตราดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชน หากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันจะทำให้เกิดผลกระทบกระเทือนถึงความสงบเรียบร้อยเป็นปกติของประชาชน แม้สิ่งนั้นจะเป็นการผิดกฎหมายหรือไม่ผิดกฎหมายก็ตาม ตำรวจจะต้องเข้าไปป้องกัน เข้าแก้ไข บำบัดช่วยให้เกิดความสงบเรียบร้อย หรือบรรเทาความร้ายแรงลงและแก้ไขเหตุการณ์ให้กลับสู่ความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว
  3. หน้าที่ป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นการป้องกันอันตรายทุกอย่างเท่าที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตำรวจ ไม่เฉพาะเป็นการป้องกันจากโจรผู้ร้ายเท่านั้น การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจมีหลายประการ ที่เป็นการป้องกันชีวิตและร่างกายรวมทั้งทรัพย์สินของประชาชนไม่ให้เป็นอันตราย หรือเกิดความเสียหายจากการกระทำทั้งของตนเองและผู้อื่นทำหน้าที่ควบคุมการจราจรเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อประชาชน
  4. มีหน้าที่ในการสืบสวน การสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจทำได้ทั้งก่อนหน้าที่จะมีการกระทำผิด เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำผิดเกิดขึ้น และสอบสวนภายหลังที่มีการกระทำผิดขึ้นแล้ว เป็นการบรรเทาความเสียหาย โดยการติดตามเอาทรัพย์คืนมาหรือนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย
  5. หน้าที่ให้บริการแก่ประชาชน การให้บริการประชาชนเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องให้ความสะดวกแก่ประชาชน เช่น การไกลเกลี่ยข้อพิพาทซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้คู่กรณีตัดสินใจทำร้ายกันได้ หรือการช่วยเหลือพลัดหลงเป็นการป้องกันเด็กจากกลุ่มมิจฉาชีพ เป็นต้น

            นอกจากหน้าที่ของตำรวจตามที่กล่าวมาแล้ว ยังมีหน้าที่อื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ในยามศึกสงครามหรือเกิดความไม่สงบ ตำรวจต้องทำหน้าที่เป็นตำรวจสนามทำการรบ หรือควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วหรือป้องกันให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด และการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่จะสามารถทำให้การปฏิบัติงานเกิดความสำเร็จได้นั้น ส่วนหนึ่งจำเป็นต้องมาจากปัจจัยส่วนบุคคบล ความรู้ความสามารถ ความพยายามส่วนบุคคล และปัจจัยสภาพแวดล้อม เช่น การได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานและผู้ร่วมงาน ดังนั้น นักเรียนนายร้อยตำรวจหรือผู้ที่เตรียมตัวสอบนายร้อยตำรวจ จึงนอกจากมีความรู้ความสามารถแล้ว ยังต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เรียนรู้บทบาทหน้าที่เป็นอย่างดี เพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพของตนเอง

สายงานป้องกันปราบปราม และบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ

            ภารกิจสำคัญของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายป้องกันและปราบปรามที่มีหน้าที่หลักในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยตรง บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของสายงานป้องกันปราบปราม ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น

  • การตรวจตรา การตรวจท้องที่ การลาดตระเวนในพื้นที่รับผิดชอบ
  • การระงับแก้ไขก่อนก่อนจะมีการกระทำผิด ที่อาจก่อให้เกิดเหตุร้ายหรือเหตุรุนแรงขึ้น
  • การระงับ การปราบปรามเมื่อเกิดการกระทำผิดร้ายแรง หรือเกิดเหตุรุนแรง
  • การจับกุมผู้กระทำผิด
  • การรักษาร่องรอยพยานหลักฐานและสถานที่เกิดเหตุ
  • การค้นตัวบุคคลหรือสถานที่
  • การปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การควบคุมผู้ต้องหา การลงบันทึกประจำวัน การเก็บรวบรวมสถิติข้อมูล เป็นต้น

นอกจากนั้น งานและบทบาทหน้าที่ของตำรวจสายงานป้องกันปราบปราม ยังมีหน้าที่เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือและบริการแก่ประชาชน เช่น

  • การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุหรืออุบัติภัย
  • การให้คำแนะนำข่าวสารหรือข้อมูลแก่แก่ประชาชน เพื่อประโยชน์ในการป้องกันตนเองและช่วยเหลือทางราชการในทางป้องกันปราบปราม

แนวทางการป้องกันอาชญากรรม ของสายงานป้องกันปราบปราม

            การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม มีหน้าที่โดยตรงของสายงานป้องกันปราบปราม ความหมายของการป้องกันอาชญากรรม คือ การคาดการณ์หรือประเมินล่วงหน้าเกี่ยวช่องทางหรือโอกาสของการกระทำผิดหรือสภาพการณ์อาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งความพยายามที่จะกระทำการใด ๆ เพื่อเป็นการสกัดกั้นมิให้มีการกระทำผิดใดเกิดขึ้น ซึ่งในการป้องกันอาชญากรรมสามารถทำได้ 3 ด้าน ได้แก่

  1. ด้านข่าวสาร เจ้าหน้าที่ตำรวจสายงานป้องกันปราบปราม จะทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้ในการป้องกันอาชญากรรมแก่ประชาชน เพื่อให้รู้ถึงวิธีป้องกันตนเองมิให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรม ตลอดจนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการป้องกันอาชญากรรม
  2. ด้านการให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยการให้ความร่วมมือแก่ประชาชน เมื่อได้รับการร้องขอ การสำรวจอาคารตึกแถวและแนะนำในเรื่องระบบรักษาความปลอดภัย แก่ธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ออาชญากรรม ได้แก่ โรงแรม ร้านค้าเพชรพลอย ธนาคาร ตลอดจนการแนะนำภาคเอกชนในการรักษาความปลอดภัยตนเอง
  3. ด้านการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้แก่
  • การจัดกำลังสายตรวจในการตรวจท้องที่
  • การวางแผนในการใช้กำลังคนตามสถานภาพของอาชญากรรมในชุมชน
  • การวางแผนป้องกันอาชญากรรมตามประเภทความผิด เช่น การขโมยรถยนต์ เป็นต้น

การแบ่งหน้าที่การปฏิบัติของข้าราชการตำรวจฝ่ายป้องกันปราบปราม

            งานป้องกันปราบปราม ประกอบด้วยกำลังพลของหน่วยทุก ๆ แผนกงานและทุกคน โดยแบ่งหน้าที่ในกาปฏิบัติไปตามลักษณะงานตามบทบาทหน้าที่ ดังนี้

           หน้าที่ของเจ้าหน้าที่สายตรวจ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สายตรวจ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการป้องกันและบริการประชาชน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. แบ่งตามลักษณะพื้นที่ คือ สายตรวจตำบล  สายตรวจชุมชน  สายตรวจพิเศษ  ได้แก่ตู้ยามหรือยามจุด
  2. แบ่งตามเครื่องมือการใช้ ได้แก่  สายตรวจรถยนต์   สายตรวจรถจักรยานยนต์  สายตรวจทางเรือ   สายตรวจเดินเท้า

     วัตถุประสงค์หลักของเจ้าหน้าที่สายตรวจ

  • การตรวจในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อเฝ้าสังเกต  บุคคล สถานที่  เหตุการณ์  เพื่อการป้องกันและการตรวจสอบ ตรวจค้นเมื่อเห็นสมควร
  • เพื่อให้บริการต่อประชาชนหรือสาธารณะชน ตามที่เห็นสมควร
  • เพื่อสังเกตบุคคล สถานที่ เหตุการณ์หรืออื่น ๆ เป็นพิเศษ ตามที่ได้รับมอบหมายสั่งการ
  • เพื่อประชาสัมพันธ์ สร้างความสัมพันธ์อันดีต่อประชาชนหรือชุมชนในเขตตรวจ ด้วยการสอบถามให้คำปรึกษา แนะนำเกี่ยวกับงานในหน้าที่ของตำรวจและอื่น ๆ เท่าที่ จะสามารถกระทำได้
  • เพื่อพบประชาชน เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี ตามที่หัวหน้างานป้องกันปราบปรามหรือสารวัตรป้องกัน ปราบปรามหรือหัวหน้าสายตรวจกำหนดและบันทึกการพบไว้
  • เพื่อระงับเหตุที่เกิดขึ้น เฝ้าระวังสถานที่เกิดเหตุในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ที่สายตรวจหรือตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา
  • เพื่อให้การช่วยเหลือพนักงานสอบสวนในการรักษาที่เกิดเหตุ และสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่

หน้าที่ฝ่ายควบคุมผู้ต้องหาบนสถานี

  • ควบคุมดูแลผู้ต้องหา ผู้ถูกกักขังและผู้ถูกจำขังในห้องควบคุม
  • ดูแลการเยี่ยมผู้ต้องหา
  • การให้อาหารผู้ถูกควบคุมหรือคุมขัง
  • การนำผู้ถูกควบคุมออกนอกห้องควบคุมไปพบพนักงานสอบสวนและนำผู้ถูกควบคุมไปยังศาล

หน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์

  • สอบถามและให้คำแนะนำประชาชนผู้มาติดต่อด้วยจิตไมตรี
  • รับโทรศัพท์ และแจ้งเหตุให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง พนักงานสอบสวน พนักงานวิทยุ และผู้บังคับบัญชาแล้วแต่กรณี

หน้าที่พนักงานวิทยุ

  • รับ ส่งข้อมูลคำสั่งทางวิทยุสื่อสาร ระหว่างผูบังคับบัญชา ประสานการปฏิบัติกับเจ้าหน้าที่สายตรวจ  กำลังพลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง  สถานีตำรวจ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
  • ดูแลรักษาเครื่องรับส่งวิทยุและวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และปฏิบัติตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการ

หน้าที่ฝ่ายธุรการ

           ฝ่ายธุรการ ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล ข่าวสาร เสนอผู้บังคับบัญชา และทำหน้าที่ฝ่ายอำนวยการเกี่ยวกับงานเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

วินัยและการรักษาวินัยของข้าราชการตำรวจ

  1. ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์  สุจริต  และเที่ยงธรรม  เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบของทางราชการ
  2. ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ  โดยไม่ขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง 
  3. ต้องรักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่  ผู้น้อย
  4. ต้องอุทิศเวลาของตนให้แก่ราชการ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการมิได้
  5. ต้องปฏิบัติราชการโดยมิให้เป็นการกระทำการข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน  เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาเหนือตน  ขึ้นไปเป็นผู้สั่งให้กระทำ  หรือได้รับอนุญาตเป็นพิเศษชั่งครั้งคราว
  6. ต้องรักษาความลับของทางราชการ
  7. ต้องสุภาพเรียบร้อย  รักษาความสามัคคี  และไม่กระทำการอย่างใดที่เป็นการกลั่นแกล้งกัน และต้องช่วยเหลือกันในการปฏิบัติราชการระหว่างข้าราชการด้วยกันและผู้ร่วมปฏิบัติราชการ 
  8. ต้องต้อนรับ  ให้ความสะดวก  ให้ความเป็นธรรมและให้การสงเคราะห์แก่ประชาชนผู้ติดต่อราชการ  หรือในการปฏิบัติราชการเกี่ยวกับหน้าที่ของตนโดยไม่ชักช้า  และด้วยความสุภาพเรียบร้อย  โดยห้ามมิให้ดูหมิ่น  เหยียดหยาม  กดขี่หรือข่มเหงประชาชนผู้มาติดต่อราชการหรือในการปฏิบัติราชการเกี่ยวกับหน้าที่ของตน
  9. ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความตั้งใจ  อุตสาหะ  เพื่อให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการ
  10. ต้องไม่กระทำการอันเป็นเหตุให้แตกความสามัคคีระหว่างข้าราชการตำรวจ
  11. ต้องไม่รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา  การรายงานโดยปกปิดข้อความซึ่งควรต้องแจ้งถือว่าเป็นการรายงานเท็จด้วย
  12. ต้องไม่ใช้กิริยาวาจาหรือประพฤติตนในลักษณะที่ไม่สมควร
  13. ต้องไม่กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว
  14. ต้องไม่กระทำด้วยประการใด ๆ  ในลักษณะที่เป็นการบังคับผู้บังคับบัญชาเป็นทางให้เสียระเบียบแบบแผนวินัยตำรวจ
  15. ต้องไม่กระทำ หรือ ละเว้นการกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการหรือทำให้เสียระเบียบแบบแผนของตำรวจ
  16. ต้องไม่กระทำการหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาผลประโยชน์อันอาจทำให้เสียความเที่ยงธรรม ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน
  17. ต้องไม่เป็นกรรมการผู้จัดการ  หรือผู้จัดการ  หรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานกันนั้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
  18. กระทำการหรือไม่กระทำการตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร.

การกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ของข้าราชการตำรวจ

  1. ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเอง  หรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้
  2. ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุอันสมควร  เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงหรือละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุอันสมควร  หรือโดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ
  3. เหยียดหยาม  กดขี่  ข่มเหง  หรือทำร้ายประชาชนผู้มาติดต่อราชการหรือในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการ
  4. กระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกหรือโทษที่หนักกว่าโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือให้รับโทษที่หนักกว่าโทษจำคุก  เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
  5. กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
  6. กระทำหรือละเว้นการกระทำใด ๆ รวมทั้งการกระทำผิดตามมาตรา  78  อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
  7. กระทำการหรือไม่กระทำการตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร.

โทษทางวินัยมี  7  สถาน ของข้าราชการตำรวจ

  1. ภาคทัณฑ์                           
  2. ทัณฑกรรม                         
  3.  กักยาม                                
  4.  กักขัง
  5. ตัดเงินเดือน
  6. ปลดออก
  7.  ไล่ออก

สรุป

นายร้อยตำรวจ สายงานป้องกันและปราบปราม บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบได้แก่ การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยหน้าที่หลักคือการปราบปรามอาชญากรรม เช่น การใช้มาตรการระงับการกระทำผิดและการจับกุมควบคุมอาชญากรแบ่งเป็น  2 มาตรการ คือ มาตรการปราบปรามตามปกติ ได้แก่ การป้องกันและระงับเหตุในขณะเกิดอาชญากรรม และมาตรการปราบปรามในเชิงรุก ได้แก่ การจัดให้มีการระดมกวาดล้างอาชญากรรมอย่างสม่ำเสมอ