รวม 25 เรื่อง โรงเรียนนายร้อยตำรวจ แห่งประเทศไทย

1731
รวม 25 เรื่อง โรงเรียนนายร้อยตำรวจ แห่งประเทศไทย
รวม 25 เรื่อง โรงเรียนนายร้อยตำรวจ แห่งประเทศไทย
เนื้อหา ซ่อน

1.โรงเรียนนายร้อยตำรวจ คือ

โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (Royal Police Cadet Academy : RPCA) เป็น หน่วยงานระดับกองบัญชาการ โดยสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ปัจจุบันตั้งอยู่ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มีหน้าที่หลักในการฝึกอบรม ให้การศึกษาและอบรมหล่อหลอมนักเรียนนายร้อยตำรวจ ให้มีคุณลักษณะเหมาะสมที่จะเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร ทั้งยังฝึกอบรมผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรอื่น ผู้ที่ศึกษาตามหลักสูตรหลักของในโรงเรียนนายร้อยตำรวจเรียกว่า “นักเรียนนายร้อยตำรวจ” (นรต.) โดยผู้ที่สำเร็จการศึกษาชั้นสูงตามหลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจจะได้รับการแต่งตั้งยศเป็น ว่าที่ร้อยตำรวจตรี โดยนายตำรวจสัญญาบัตรที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจนั้น จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้ารับพระราชทานกระบี่จากพระองค์ท่าน หรือองค์ผู้แทนพระองค์

2.ประวัติ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

ประวัติโรงเรียนนายร้อยตำรวจเริ่มต้นจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรขึ้นในประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2444 ณ มณฑลนครราชสีมา อันเป็นรากฐานเริ่มต้นของโรงเรียนนายร้อยตำรวจยุคปัจจุบัน โดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือที่ 67/719 ลงวันที่ 19 เมษายน ร.ศ.121 (พ.ศ. 2445) กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าด้วย ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรขึ้นแล้ว แต่ติดขัดเรื่องพื้นที่ในการตั้งโรงเรียน จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ย้ายที่ตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ไปตั้งที่ ต.ห้วยจระเข้ อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาและลงพระปรมาภิไธยพระราชทานพระบรมราชานุญาต เป็นหนังสือถึงกรมหลวงดำรงราชานุภาพ 2 ฉบับ ฉบับแรกหนังสือที่ 59/234 ลงวันที่ 20 เมษายน ร.ศ.121(พ.ศ. 2445) ฉบับที่ 2 หนังสือที่ 131/361 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม ร.ศ.121(พ.ศ. 2445) โปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ย้ายที่ตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ตามความกราบบังคมทูลขอของกรมหลวงดำรงราชานุภาพ อันเป็นหลักฐานที่แสดงว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรขึ้นมา

3.สถานที่ที่ตั้งของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

สำหรับประวัติสถานที่ตั้งของโรงเรียนนายร้อยตำรวจนั้น ถูกตั้งแต่เมื่อแรกเริ่มตั้งขึ้นในประเทศไทย จนกระทั่งมีที่ตั้งล่าสุดที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ได้มีการย้ายสถานที่ตั้งตามลำดับดังต่อนี้

  • สมัยที่ 1 โรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธร นครราชสีมา พ.ศ. 2444 – พ.ศ. 2447 มีนายร้อยโท ม.ร.ว.แดง (หม่อมแดง) ผู้บังคับการกองตำรวจภูธรเขต 3 นครราชสีมา ทำหน้าที่เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นคนแรก
  • สมัยที่ 2 โรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธร ห้วยจรเข้ จังหวัดนครปฐม (ครั้งที่ 1) พ.ศ. 2447 – พ.ศ. 2458
  • สมัยที่ 3 โรงเรียนนายหมวด คลองไผ่สิงโต กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2458 – พ.ศ. 2464
  • สมัยที่ 4 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ห้วยจระเข้ จังหวัดนครปฐม (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2464 – พ.ศ. 2476
  • สมัยที่ 5 โรงเรียนนายร้อยทหารบก (ยศ.) กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2476 – พ.ศ. 2489 ทั้งนี้ ได้มีการเริ่มนับรุ่นของนักเรียนนายร้อยตำรวจ ครั้งแรกเป็น นรต.รุ่นที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2480 ในขณะที่ศึกษาร่วมกับนักเรียนนายร้อยทหารบก
  • สมัยที่ 6 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2489 – พ.ศ. 2497
  • สมัยที่ 7 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม พ.ศ. 2497 – ปัจจุบัน

4.ธงชัยประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจ…

ในโรงเรียนนายร้อยตำรวจได้รับพระราชทานธงชัยประจำหน่วยตำรวจ จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พร้อมกับหน่วยอื่นของตำรวจอีก 5 หน่วย เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2495 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยดังกล่าวด้วยพระองค์เอง ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2495 ผืนธงชัยจะมีลักษณะ แบบเดียวกับธงชาติ ภายในยอดธงบรรจุเส้นพระเกศาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และบรรจุพระพุทธรูปองค์เล็กเรียกว่า “พระยอดธง” เอาไว้ เพราะฉะนั้นธงชัยจึงถือเป็นตัวแทนของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งเหล่าข้าราชการตำรวจ นักเรียนนายร้อยตำรวจ และปวงชนชาวไทยต่างให้ความเคารพ โดยในทุกวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันตำรวจ คณะนายตำรวจปกครองและนักเรียนนายร้อยตำรวจ จะทำการอัญเชิญธงชัยประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจนี้ไปทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนาม

นอกจากนี้ธงชัยประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจนี้ ยังมีลักษณะและการได้มาเช่นเดียวกันกับธงชัยเฉลิมพล ซึ่งได้ทรงพระราชทานแก่หน่วยทหารทุกประการ โดยสำนักราชเลขาธิการได้บันทึกหลักฐานเกี่ยวกับ “ธงชัยประจำหน่วยตำรวจ” นี้ไว้ ตามหลักฐานต่างๆ ปรากฏชื่อธงดังกล่าว ได้แก่ “ธงชัยเฉลิมพลประจำกองตำรวจ” “ธงชัยประจำกอง” “ธงชัย” “ธงประจำกอง” ซึ่งก็คือธงเดียวกัน

5.โครงสร้างส่วนราชการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

โรงเรียนนายร้อยตำรวจนั้นเป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสามารถแบ่งหน้าที่ภารกิจออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายปกครองและการฝึกฝ่ายวิชาการ

6.ฝ่ายบริหารโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

ความรับผิดชอบด้านการบริหารงานทั่วไปของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จะมีตั้งแต่ การสรรหาการคัดเลือก การบริหารงานบุคคล การคลัง แผนและงบประมาณ นิติการ ยานพาหนะ อาคาร และสถานที่ พิพิธภัณฑ์ โภชนาการ และการแพทย์ ประกอบด้วยส่วนราชการและกองบังคับการอำนวยการ แบ่งออกได้ดังต่อไปนี้

  • ฝ่ายสรรหาและคัดเลือก
  • ฝ่ายบริหารงานบุคคล
  • ฝ่ายคลัง
  • ฝ่ายแผนและงบประมาณ
  • ฝ่ายนิติการ
  • ฝ่ายยานพาหนะ อาคารและสถานที่
  • ฝ่ายพิพิธภัณฑ์
  • ฝ่ายโภชนาการ
  • ฝ่ายแพทย์

7.ฝ่ายปกครองและการฝึก โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

ฝ่ายปกครองและการฝึกนั้นจะทำหน้าที่รับผิดชอบด้านการปกครองบังคับบัญชา ให้คำปรึกษา แนะนำ สนับสนุนงานกิจกรรมต่างๆ ของนักเรียนนายร้อยตำรวจ นักเรียนเตรียมทหารในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นักเรียนที่อบรมในหลักสูตรต่างๆ ของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รวมทั้งจัดการฝึกในรูปแบบต่างๆ เช่น การฝึกแบบตำรวจ การฝึกยุทธวิธีตำรวจ การฝึกพลศึกษาและต่อสู้ป้องกันตัว ประกอบด้วยส่วนราชการ ดังนี้

  • กองบังคับการปกครอง สามารถแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้
    • ฝ่ายปกครอง 1 (ปกครองนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 1-4)
    • ฝ่ายปกครอง 2(ปกครองนักเรียนอบรม)
    • ฝ่ายปกครอง 3 (ปกครองนักเรียนเตรียมทหาร โดยปฏิบัติหน้าที่ ณ โรงเรียนเตรียมทหาร จว.นครนายก)
    • ฝ่ายกิจกรรมนักเรียน
    • ฝ่ายอำนวยการ
  • ศูนย์ฝึกตำรวจ สามารถแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้
    • กลุ่มงานการฝึกแบบตำรวจ
    • กลุ่มงานยุทธวิธีตำรวจ
    • กลุ่มงานพลศึกษาและต่อสู้ป้องกันตัว
    • ฝ่ายอำนวยการ

8.ฝ่ายวิชาการ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

ฝ่ายวิชาการโรงเรียนนายร้อยนั้น จะมีหน้ารับผิดชอบด้านการให้ความรู้ทางวิชาการต่างๆ ของนักเรียน เช่น การเรียนการสอน การวิจัย การฝึกอบรม และการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ประกอบด้วยส่วนราชการ ดังนี้

  • คณะตำรวจศาสตร์ สามารถแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้
    • กลุ่มงานคณาจารย์
    • สำนักงานคณบดี
  • คณะนิติวิทยาศาสตร์ สามารถแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้
    • กลุ่มงานคณาจารย์
    • กลุ่มงานนักนิติวิทยาศาสตร์
    • สำนักงานคณบดี
  • คณะสังคมศาสตร์ สามารถแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้
    • กลุ่มงานคณาจารย์
    • สำนักงานคณบดี
  • ศูนย์บริการทางการศึกษา สามารถแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้
    • ฝ่ายสนับสนุนการเรียนการสอน
    • ฝ่ายพัฒนาการศึกษา
    • ฝ่ายบริหารงานวิจัย
    • ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์
    • ฝ่ายบริหารและธุรการ

9.หน่วยงานขึ้นตรงต่อโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

หน่วยงานขึ้นตรงต่อโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จะทำหน้าที่รับผิดชอบงานเชิงรุกเพื่อให้การปฏิบัติงาน เป็นไปด้วยความรวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ประกอบด้วยส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

  • สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและวิทยบริการ สามารถแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้
    • ฝ่ายระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย
    • ฝ่ายระบบสารสนเทศ
    • ฝ่ายวิทยบริการ
    • ฝ่ายบริหารและธุรการ
  • สำนักประกันคุณภาพการศึกษา สามารถแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้
    • ฝ่ายมาตรฐานการศึกษา
    • ฝ่ายตรวจสอบและประเมินผล
    • ฝ่ายบริหารและธุรการ
  • สำนักเลขานุการ
  • สำนักสภาการศึกษาและส่งเสริมกิจการ

10.รายนามของนักเรียนเก่าที่มีชื่อเสียงจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

  • พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก (รุ่นที่ 18)
  • พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ (รุ่นที่ 22)
  • พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (รุ่นที่ 24)
  • พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ (รุ่นที่ 25)
  • ร้อยตำรวจเอก ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ (รุ่นที่ 25)
  • พลตำรวจเอก ปทีป ตันประเสริฐ (รุ่นที่ 25)
  • พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร (รุ่นที่ 26)
  • พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว (รุ่นที่ 29)
  • พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง (รุ่นที่ 30)
  • พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง (รุ่นที่ 31)
  • พลตำรวจเอก พงศพัศ พงษ์เจริญ (รุ่นที่ 31)
  • พลตำรวจโท สมหมาย กองวิสัยสุข (รุ่นที่ 34)
  • พลตำรวจโท ศานิตย์ มหถาวร (รุ่นที่ 34)
  • พลตำรวจเอก ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล (รุ่นที่ 35)
  • พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา (รุ่นที่ 36)
  • พลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล (รุ่นที่ 47)

11.หลักสูตรของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

โรงเรียนนายร้อยตำรวจ จะมีหลักสูตรหรือมีภารกิจหลักในการให้การศึกษาอบรมทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพ และการอบรมหล่อหลอมคุณลักษณะความเป็นนายตำรวจสัญญาบัตรให้แก่ผู้ที่เข้ารับการศึกษาอบรมในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดยหลักสูตรหลักและเป็นหลักสูตรประจำของโรงเรียนนายร้อยตำรวจนั้นจะเรียกว่า “หลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจ”

โดยหลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี ทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ (การตำรวจ) ตัวหลักสูตรจะเน้นการศึกษาอบรมให้นักเรียนนายร้อยตำรวจมีวิชาความรู้และการอบรมหล่อมหลอมคุณลักษณะอันดีใน 3 ด้าน ดังนี้

  1. มีความรู้ทางวิชาการพื้นฐานของระดับปริญญาตรี
  2. มีความรู้ทางวิชาชีพ ที่เป็นความรู้เฉพาะในด้านตำรวจ
  3. มีบุคลิกลักษณะและมีภาวะความเป็นผู้นำตำรวจ มีคุณลักษณะทางร่างกายและจิตใจที่เหมาะสมจะเป็นนายตำรวจสัญญาบัตร และมีคุณธรรมจริยธรรม

นอกจากนี้สภาการศึกษาของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้มีการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจให้มีความทันสมัย มีความเหมาะสมกับสภาพความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมาโดยตลอดเวลา นอกเหนือจากนั้น โรงเรียนนายร้อยตำรวจยังได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการเปิดหลักสูตรร่วมกันอีกด้วย

12.เพลงประจำสถาบันโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

  • มาร์ชนักเรียนนายร้อยตำรวจ (เพลงมาร์ชประจำสถาบัน)
  • มาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์ (เพลงประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
  • สามพราน
  • สนสามพราน
  • ขวัญดาว
  • ลาก่อนสามพราน
  • ลาแล้วสามพราน
  • สามพรานแดนดาว

สามารถรับฟังเพลงประจำสถาบัน ทั้ง 8 เพลง ได้ที่ https://drive.google.com/drive/folders/0B5-VPJYzFuoUZExtSFktQll2bzA

13.อุดมคติของตำรวจ

เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่
กรุณาปรานีต่อประชาชน
อดทนต่อความเจ็บใจ
ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก
ไม่มักมากในลาภผล
มุ่งบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
ดำรงตนในยุติธรรม
กระทำการด้วยปัญญา
รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต

พระนิพนธ์โดย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฐายีมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกองค์ที่ 16 เมื่อพุทธศักราช 2499

14.คำขวัญประจำชั้นปี

ครั้งเมื่อ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้ก่อสร้างโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ที่ อ.สามพราน จว.นครปฐม ได้ให้ พ.ต.อ.วิจิตร สุกโชติรัตน์ ทำหน้าที่เป็นอนุศาสนาจารย์ และสอนวิชาจริยธรรมแก่นักเรียนนายร้อยตำรวจ (พ.ต.อ.วิจิตร สุกโชติรัตน์ นั้นขณะครองสมณเพศ มีสมณศักดิ์ทางสงฆ์เป็นพระมหา)

ขณะก่อสร้างอาคารต่างๆภายในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พ.ต.อ.วิจิตรฯ ได้ขอคำแนะนำจากพระเถระผู้ใหญ่ขอตั้งคำขวัญประจำชั้นปีของนักเรียนนายร้อยตำรวจ เพื่อเป็นกุศโลบายและแนวทางในการอบรมปลูกฝัง นรต. ซึ่งเมื่อก่อสร้างอาคารต่างๆเสร็จใน พ.ศ. 2497 (นรต.รุ่นที่ 9,10,11) ก็ได้ตั้งคำขวัญประจำชั้นปีของนักเรียนนายร้อยตำรวจติดไว้ประจำอาคารนอนของ นรต.ทั้ง 4 อาคาร ดังต่อไปนี้

  • นรต.ชั้นปีที่ 1 คำขวัญคือ ขันตีอุตสาหะ หมายความว่า ให้ นรต.ชั้นปีที่ 1 ต้องมีขันติ คือความอดทน และอุตสาหะ คือพากเพียรรับการฝึกหนัก ต้องมุมานะอดทนในการเปลี่ยนชีวิตจากคนธรรมดาให้เป็นผู้ที่รับการฝึก
  • นรต.ชั้นปีที่ 2 คำขวัญคือ วิจัยกรณี หมายความว่า จะต้องแยกแยะวิจัยกรณีต่างๆ เพื่อก้าวไปสู่ความก้าวหน้าในขั้นต่อๆไป
  • นรต.ชั้นปีที่ 3 คำขวัญคือ รักษ์วินัย หมายความว่า จะต้องรักษาระเบียบวินัยและขนบธรรมเนียมอันดีงามต่างๆ
  • นรต.ชั้นปีที่ 4 คำขวัญคือ เกียรติศักดิ์ หมายความว่า จะต้องเป็นผู้ที่มีเกียรติยศ ศักดิ์ศรี รักษาเกียรติของตำรวจและสถาบันให้ดีที่สุด

คำขวัญของนักเรียนนายร้อยตำรวจนั้นถือเป็นกุศโลบายที่จะช่วยฝึกให้ นรต.มีคุณสมบัติพื้นฐานของผู้ที่จะเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร และกำลังจะสำเร็จการศึกษาออกไปเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยตำรวจทั่วประเทศ ซึ่งจะฝึกให้ นรต.รู้จักความเป็น ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดีในชั้นปีที่ 1-2 และเป็น ผู้บังคับบัญชาที่ดีในชั้นปีที่ 3-4 โดยคำขวัญดังกล่าวมักจะถูกเรียกให้คล้องจองว่า “เกียรติศักดิ์ รักษ์วินัย วิจัยกรณี ขันตีอุตสาหะ”

15.สีประจำชั้นปี

สีประจำชั้นปีนี้จะถูกใช้เป็นสีประจำกองร้อย (อาคารนอน) และเป็นสีหมวก ซึ่งการเลื่อนชั้นการศึกษาของ นรต.นั้นจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้มี พิธีประดับเลขชั้นปีและเปลี่ยนหมวกสีแล้ว ซึ่งจะทำในวันรุ่งขึ้นหลังจากมีพิธีวิ่งรับหมวก (Long March) ในวันเริ่มต้นเปิดภาคการศึกษา โดยในแต่ละชั้นปีก็มีสีแตกต่างกันออกไป ดังนี้

  • ชั้นปีที่ 1 สีฟ้า หมายความว่า ให้เป็นคนที่เปิดกว้างเหมือนท้องฟ้า เพื่อรับการฝึก การอบรมต่างๆ ต้องเป็นคนเปิดกว้างทั้งจิตใจและสติปัญญา
  • ชั้นปีที่ 2 สีเหลือง เป็นสีของการศึกษา หมายความว่า ให้มีความตั้งใจศึกษาทุกๆด้านที่ รร.นรต. ให้การฝึกศึกษาแก่ นรต.
  • ชั้นปีที่ 3 สีม่วง เป็นสีที่เกิดจากการผสมระหว่างสีแดงเลือดหมูกับสีดำ อันเป็นสีของตำรวจ หมายความว่า จะต้องมีความพร้อมที่จะเป็นตำรวจอย่างเต็มตัว
  • ชั้นปีที่ 4 สีเขียว เป็นสีที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์เต็มที่ ถ้าเป็นต้นไม้ก็คือต้นไม้ใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขา เป็นที่พึ่ง ให้ร่มเงาแก่สรรพสัตว์และมนุษย์ได้

16.เครื่องแบบนักเรียนนายร้อยตำรวจ

เครื่องแบบและชุดแต่งกายของนักเรียนนายร้อยตำรวจมีทั้งหมด ดังต่อไปนี้

เครื่องแบบ และชุดแต่งกายของนักเรียนนายร้อยตำรวจ มีทั้งสิ้นจำนวน 14 แบบ ได้แก่

  1. เครื่องแบบเต็มยศ
  2. เครื่องแบบครึ่งยศ
  3. เครื่องแบบสโมสร
  4. เครื่องแบบปกติขาว
  5. เครื่องแบบปกติเสื้อนอกคอแบะกากี
  6. เครื่องแบบปกติเสื้อเชิ้ตคอพับกากี (มีผ้าผูกคอ)
  7. เครื่องแบบฝึก
  8. เครื่องแบบสนาม (ฟาติก)
  9. เครื่องแบบสนามชนิดปล่อยเอว (เวสมอร์แลนด์)
  10. ชุดศึกษา
  11. ชุดลำลอง
  12. ชุดกีฬาขาสั้น
  13. ชุดกีฬาขายาว
  14. ชุดวอร์ม

หมวกตำรวจ มีทั้งสิ้น 7 แบบ ได้แก่

  1. หมวกปีกทรงแข็งสีกากี มียอดโลหะสีเงิน (หมวกยอด) หุ้มด้วยผ้าเสิร์จ
  2. หมวกทรงหม้อตาลสีกากี ผ้าเสิร์จ
  3. หมวกทรงหม้อตาลสีขาว
  4. หมวกทรงหม้อตาลสีกากี
  5. หมวกแก๊ปทรงอ่อนพับปีกสีกากี ผ้าเสิร์จ (นรต.หญิง)
  6. หมวกแก๊ปทรงอ่อนพับปีกสีกากี (นรต.หญิง)
  7. หมวกแก๊ปทรงอ่อนพับปีกสีขาว (นรต.หญิง)
  8. หมวกหนีบสีกากี
  9. หมวกแก๊ปทรงตึง (สีประจำกองร้อย)
  10. หมวกแก๊ปทรงอ่อนสีดำ
  11. หมวกทรงอ่อนสักหลาดสีดำ (เบเร่ต์)

รองเท้า มีทั้งสิ้น 4 แบบ ได้แก่

  1. รองเท้าหุ้มข้อหนังสีดำ (ฮาล์ฟ)
  2. รองเท้าหุ้มส้นหนังสีดำ (คัทชู)
  3. รองเท้าสูงครึ่งน่องหนังสีดำ (คอมแบท)
  4. รองเท้ากีฬาผ้าใบหุ้มส้นสีขาว

ส่วนประกอบเครื่องแบบ

  • หน้าหมวกตราแผ่นดิน เป็นตราแผ่นดินรูปอาร์มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจูลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • อาร์มคอรูปตราสัญลักษณ์โรงเรียนนายร้อยตำรวจสีเงิน
  • อินทธนูแข็งสีแดงเลือดหมูประดับสายพาดดิ้นเงิน
  • เครื่องหมาย “ร”
  • เครื่องหมายเลขไทยตามชั้นปี
  • ป้ายชื่อโลหะ
  • แพรแถบย่อข้าราชการตำรวจ
  • กระบี่สั้นนักเรียนนายร้อยตำรวจพร้อมสายกระบี่
  • กระบี่ยาว พร้อมสายกระบี่ชนิดสามชาย (ใช้ในการฝึกและการสวนสนาม)

เครื่องหมายการผ่านการฝึก และความสามารถพิเศษประกอบเครื่องแบบ

  • เครื่องหมายหลักสูตรต่อต้านปราบปรามการก่อความไม่สงบ (ตปส.)
  • เครื่องหมายหลักสูตรการโดดร่ม จากกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ ตชด. (ค่ายนเรศวร) ปีกร่มชนิดทำด้วยดิ้นเงิน
  • เครื่องหมายความสามารถการยิงปืนพกในระบบ เอ็น.อาร์.เอ (N.R.A.)
  • เครื่องหมายความสามารถการยิงปืนยาว

17.หลักสูตรต่างๆ ของนักเรียนนายร้อยตำรวจ

นอกจากนักเรียนนายร้อยตำรวจจะต้องศึกษาภาควิชาการ และการอบรมหล่อหลอมด้านความคิดจิตวิญญาณแล้ว นรต.ทั้งหมดจะต้องเข้ารับการฝึกหลักสูตรต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • หลักสูตรการต่อต้านปราบปรามการก่อความไม่สงบ (ตปส.) สำหรับ นรต.ชั้นปีที่ 1 ฝึกในช่วงปิดภาคการศึกษาภาคปลาย ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม โดยอยู่ในการควบคุมการฝึกโดยกองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
  • หลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจฝึกรับใช้ประชาชนในชนบท สำหรับ นรต.ชั้นปีที่ 2 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “หลักสูตรพ่อแม่สมมติ” ฝึกในช่วงปิดภาคการศึกษาภาคต้น ประมาณเดือนกันยายน
  • หลักสูตรการโดดร่ม สำหรับ นรต.ชั้นปีที่ 2 ฝึกในช่วงปิดภาคการศึกษาภาคปลาย ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน โดยอยู่ในการควบคุมการฝึกโดยกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวร) หลักสูตรนี้ไม่เป็นหลักสูตรบังคับ หากไม่เข้ารับการฝึก จะต้องฝึกหลักสูตรอื่น ๆ ทดแทน
  • หลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจสัมผัสปัญหาชุมชน สำหรับนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 3 ฝึกในช่วงปิดภาคการศึกษาภาคต้น ประมาณเดือนกันยายน
  • หลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจฝึกปฏิบัติงานในสถานีตำรวจ สำหรับนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 3 โดยให้ฝึกงานสายป้องกันปราบปราม, สืบสวน, จราจร, อำนวยการ ฝึกในช่วงปิดภาคการศึกษาภาคปลาย ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม โดยส่งตัวให้ไปฝึกในสถานีตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธรต่าง ๆ
  • หลักสูตรฝึกหัดงานสอบสวน สำหรับ นรต.ชั้นปีที่ 4 ฝึกหลังจากเสร็จสิ้นการศึกษาภาคต้น ประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน โดยส่งตัวให้ฝึกในสถานีตำรวจนครบาลต่าง ๆ
  • หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพสืบสวนสอบสวน สำหรับ นรต.ชั้นปีที่ 4 ต่อเนื่องจนถึงประดับยศเป็นว่าที่ ร.ต.ต.โดยส่งตัว นรต.ชั้นปีที่ 4 ที่สำเร็จการศึกษาแล้วให้รับการฝึก ณ สถาบันส่งสริมงานสอบสวน ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ประมาณเดือนพฤศจิกายน-กรกฎาคม ใช้ระยะเวลาฝึกเป็นเวลา 8 เดือน ก่อนจะแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

18.นักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง

ในปีการศึกษา 2552 (ตรงกับนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 66) โรงเรียนนายร้อยตำรวจได้เริ่มเปิดรับสมัครนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงเป็นรุ่นแรก โดยมีจำนวน 70 นาย โดยคัดเลือกจากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 60 นาย และข้าราชการตำรวจชั้นประทวนเพศหญิงอายุไม่เกิน 25 ปี อีก 10 นาย ผลปรากฏว่ามีผู้สมัครสอบคัดเลือกถึง 17,000 คน และได้รับนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดทุกปี จนถึงปี 2561 ซึ่งในปัจจุบันได้มีการเลิกรับนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงแล้ว

19.คุณสมบัติของนักเรียนที่จะสอบเข้าไปเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง

คุณสมบัติของนักเรียนที่ต้องการสมัครสอบเข้านักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง จะมีดังต่อไปนี้

  1. บุคคลที่เป็นข้าราชการตำรวจ หญิง อายุ ไม่เกิน 25 ปี เป็นข้าราชการตำรวจมาแล้ว 1 ปี
  2. นรต.หญิงบุคคลภายนอก (จบ.ม.6 )
    • อายุ 16 – 21 ปี
    • สำเร็จมัธยมปลาย (ม.6) หรือ เทียบเท่า
    • สูงไม่น้อยกว่า 160 ซม.
    • บิดา มารดา สัญชาติไทย

20.ทำเนียบผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

1. พลตำรวจโท สมชาย ไชยเวช พ.ศ. 2532 – พ.ศ. 2534
2. พลตำรวจโท จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ พ.ศ. 2534 – พ.ศ. 2535
3. พลตำรวจโท นิรดม ตันตริก พ.ศ. 2535 – พ.ศ. 2536
4. พลตำรวจโท อัยยรัช เวสสะโกศล พ.ศ. 2536 – พ.ศ. 2537
5. พลตำรวจโท โกศล รัตนาวะดี พ.ศ. 2537 – พ.ศ. 2537
6. พลตำรวจโท เขตต์ นิ่มสมบุญ พ.ศ. 2537 – พ.ศ. 2539
7. พลตำรวจโท ชิดชัย วรรณสถิตย์ พ.ศ. 2539 – พ.ศ. 2540
8. พลตำรวจโท เสรี เตมียเวส พ.ศ. 2540 – พ.ศ. 2540
9. พลตำรวจโท หม่อมหลวงฉลองลาภ ทวีวงศ์ พ.ศ. 2540 – พ.ศ. 2541
10. พลตำรวจโท สุนทร นุชนารถ พ.ศ. 2541 – พ.ศ. 2545
11. พลตำรวจโท วงกต มณีรินทร์ พ.ศ. 2545 – พ.ศ. 2546
12. พลตำรวจโท ชัยยันต์ มะกล่ำทอง พ.ศ. 2546 – พ.ศ. 2547
13. พลตำรวจโท วุฒิ พัวเวส พ.ศ. 2547 – พ.ศ. 2548
14. พลตำรวจโท พงศพัศ พงษ์เจริญ พ.ศ. 2548 – พ.ศ. 2550
15. พลตำรวจโท อมรินทร์ อัครวงษ์ พ.ศ. 2550 – พ.ศ. 2553
16. พลตำรวจโท อารีย์ อ่อนชิต พ.ศ. 2553 – พ.ศ. 2556
17. พลตำรวจโท ศักดา เตชะเกรียงไกร พ.ศ. 2556 – พ.ศ. 2559
18. พลตำรวจโท ดร. ปิยะ อุทาโย พ.ศ. 2559 – พ.ศ. 2561
19. พลตำรวจโท สมชาย พัชรอินโต พ.ศ. 2561 – พ.ศ. 2562
20. พลตำรวจโท อาชวันต์ โชติกสเถียร พ.ศ. 2562 – ปัจจุบัน

21.การศึกษาในโรเรียนนายร้อยตำรวจ

ในการจัดการศึกษาตามหลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจ ตลอด 4 ปีนั้น จะต้องอยู่ประจำ ณ สถานศึกษาตลอดเวลา 4 ปี เพื่อที่จะใช้เวลาสำหรับสร้างบุคลากรตำรวจให้ได้ครบทุกด้าน คือ พุฒิศึกษา พลศึกษา และจริยศึกษา แถมยังช่วยให้ได้ทั้งความรู้ในวิชาชีพตำรวจ ด้านร่างกาย บุคลิกภาพ คุณลักษณะ และทักษะที่เหมาะสมทั้งด้านคุณธรรมและจริยธรรมในอาชีพตำรวจ โดยรัฐต้องใช้งบประมาณสำหรับการจัดการศึกษา เสมือนเป็นนักเรียนทุนของรัฐ เพื่อให้ได้ตำรวจอาชีพที่สมบูรณ์แบบที่สุด ต้องใช้ทรัพยากรในการจัดการศึกษา และการฝึกอบรม ทั้งด้านที่พัก อาหาร สถานที่ อุปกรณ์การศึกษา และฝึกอบรม ตลอดหลักสูตรนักเรียนนายร้อย โดยที่ตัวนักเรีบยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาแต่อย่างใด

  • เมื่อเข้ารับการศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจจะได้รับเงินเดือนตลอด 4 ปี
  • ราชการรับผิดชอบค่าที่พัก ค่าอาหาร ตำรา เครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์การศึกษา และการฝึกอบรมทั้งหมด
  • ได้รับปริญญาตรี รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต
  • ได้รับพระราชทานยศเป็นร้อยตำรวจตรีหญิง
  • ได้รับพระราชทานกระบี่
  • ได้รับการบรรจุแต่งตั้งในตำแหน่งรองสารวัตรในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกคน

22.เมื่อสำเร็จการศึกษา

  • จะได้รับปริญญาตรี รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต
  • จะได้รับพระราชทานยศเป็นร้อยตำรวจตรี
  • จะได้รับพระราชทานกระบี่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  • จะได้รับการบรรจุแต่งตั้งในตำแหน่งรองสารวัตรในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกนาย

23.การเทียบโอนหน่วยกิต การศึกษาต่อระดับปริญญาโท และปริญญาเอก

หลังจากสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจแล้วนั้น ผู้เรียนจบสามารถนำคุณวุฒิ รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิตไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่สามารถเทียบโอนหน่วยกิตต่อได้ ดังนี้

  • สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เทียบโอนหน่วยกิต ได้จำนวน 88 หน่วยกิต จากจำนวน 145 หน่วยกิต
  • สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เทียบโอนชุดวิชา ได้จำนวน 4 ชุดวิชา ในจำนวน 24 ชุดวิชา

24.เงินเดือนในแต่ละตำแหน่ง

เงินเดือนในแต่ละตำแหน่งตำแหน่ง

  • ร้อยตํารวจเอก ร้อยตํารวจโท และร้อยตํารวจตรี ได้รับเงินเดือนในระดับ (ส.1) อัตราเริ่มต้น 6,470 – 38,750 บาท ดังนี้
  • พันตํารวจตรี ให้ได้รับเงินเดือนระดับ (ส.2) 13,160 – 38,750 บาท
  • พันตํารวจโท ให้ได้รับเงินเดือนระดับ (ส.3) 16,190 – 54,820 บาท
  • พันตํารวจเอก ให้ได้รับเงินเดือนระดับ (ส.4) 19,860 – 58,390 บาท
  • พันตํารวจเอก (พิเศษ) ให้ได้รับเงินเดือนระดับ (ส.5) 24,400 – 69,040 บาท

25.สิทธิต่างๆ ที่ได้รับจากทางราชการ

  • บ้านพัก
  • ค่ารักษาพยาบาล ตนเอง ภรรยา บุตร บิดาและมารดา
  • เบิกค่าเล่าเรียนบุตร
  • เบิกค่าเช่าบ้าน
  • สมาชิก กบข.
  • ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
  • สมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์
  • ฯลฯ