ความรู้ทั่วไปของ กองทัพเรือไทย

1306
ความรู้ทั่วไปของ กองทัพเรือไทย
ความรู้ทั่วไปของ กองทัพเรือไทย

กองทัพเรือไทย หรือ ราชนาวีไทย เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการปฏิบัติการทางทหาร ด้านทะเล ลำน้ำ และพื้นที่บริเวณชายฝั่งของประเทศไทย ซึ่งกองทัพเรือจะมีจำนวนกำลังพลประจำการเป็นลำดับ 2 รองลงมาจากกองทัพบก โดยจะมีเรือรบปฏิบัติการกว่า 74 ลำ อากาศยานกว่า 90 เครื่อง และยังมีกำลังรบทางบกอีกด้วย

นอกจากนี้กองทัพเรือยังมีพื้นที่ปฏิบัติการหลักอยู่ในอ่าวไทย และทะเลอันดามันตามแนวเขตแดนระหว่างประเทศในทะเลมีความยาวกว่า 1,680 ไมล์ และตรงแนวชายฝั่งความยาวกว่า 1,500 ไมล์ โดยหน่วยต่างๆในสังกัดกองเรือนั้นมีลักษณะโครงสร้างที่คล้ายคลึงกับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา

ประวัติแบบย่อของกองทัพเรือไทย

กองทัพเรือไทยนั้นมีจุดกำเนิดควบคู่มากับการสร้างอาณาจักรไทยเลยก็ว่าได้ เริ่มตั้งแต่ในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งในกองทัพไทยช่วงสมัยเดิมนั้นมีเพียงทหารเหล่าเดียว ไม่ได้มีการแบ่งแยกออกเป็นกองทัพบก กองทัพเรือ หรือกองทัพอากาศ แบบในปัจจุบัน โดยหากตัวยาตราทัพไปทางบกก็จะเรียกว่าทัพบก หากยาตราทัพไปทางเรือก็เรียกว่าทัพเรือ เป็นเหตุให้การจัดระเบียบการปกครองบังคับบัญชากองทัพไทยในยามปกตินั้นยังไม่มีแบบแผนที่แน่นอน และในยามศึกสงครามได้ใช้ทหารทัพบกกับทัพเรือรวมกัน ส่วนในการยาตราทัพเพื่อทำศึกสงครามภายในอาณาจักรหรือนอกอาณาจักร บางครั้งก็มีความจำเป็นที่ต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการลำเลียงทหาร เหตุเพราะเรือนอกจากจะสามารถลำเลียงเสบียงอาหารได้คราวละมากๆแล้ว ยังสามารถลำเลียงอาวุธหนักต่างๆได้อย่างบเช่น ปืนใหญ่ หรืออื่นๆ ผ่านทางเรือไปได้ง่ายและรวดเร็วกว่าทางบก ด้วยความสะดวกและรวดเร็วนี้จึงนิยมยกทัพไปทางเรือจนสุดทางน้ำ แล้วจึงค่อยยกทัพขึ้นไปทางบก โดยกิจการทหารเรือดำเนินไปเช่นนี้จนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

พ.ศ. 2394 กิจการทหารเรือเริ่มแบ่งฝ่ายออกมาชัดเจน และแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ทหารเรือวังหลวง (ทหารมะรีนสำหรับเรือรบ) ทำการขึ้นตรงกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหม และทหารเรือวังหน้า ทำการขึ้นตรงกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ต่อมาในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อกรมทหารเรือเป็นกองทัพเรือ เพื่อช่วยให้สอดคล้องกับการเรียกชื่อส่วนรวมของทหารบกว่ากองทัพบก และขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม โดยจะแบ่งส่วนราชการออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน คือ กรมเสนาธิการทหารเรือ, กองเรือรบ, สถานีทหารเรือกรุงเทพ, กรมอู่ทหารเรือ, กรมสรรพาวุธทหารเรือ และกรมอุทกศาสตร์ เป็นต้น

บทบาทของกองทัพเรือในปัจจุบัน

  • การปฏิบัติการทางทหาร (Military Role) คือ การปฏิบัติการทางเรือเพื่อการป้องกันประเทศในรูปแบบต่างๆ ตามสถานการณ์ที่กระทบต่ออำนาจอธิปไตยและเอกราชของประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องใช้กำลังทางเรือที่เข้มแข็ง ปฏิบัติการด้วยความเฉียบพลัน รุนแรง และเด็ดขาด
  • การรักษากฎหมายและช่วยเหลือ (Constabulary Role) คือ การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การรักษากฎหมายตามที่รัฐบาลมอบอำนาจ ให้ทหารเรือเป็นเจ้าหน้าที่รวม 28 ฉบับ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนและการพัฒนาประเทศ
  • การสนับสนุนกิจการระหว่างประเทศ (Diplomatic Role) คือ การสนับสนุนการดำเนินนโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐบาล และใช้หรือแสดงกำลังเพื่อสนับสนุนการเจรจาต่อรอง เมื่อมีการขัดกันในผลประโยชน์ของชาติหรือเหตุการณ์วิกฤติที่กระทบต่อผลประโยชน์ของชาติโดยตรง

ภารกิจของกองทัพเรือ

ภารกิจของกองทัพเรือ สามารถสรุปออกมาเป็นข้อๆได้ดังนี้

  1. เตรียมกำลังกองทัพเรือและป้องกันราชอาณาจักร
  2. รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
  3. พิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์
  4. สนับสนุนการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
  5. สนับสนุนการพัฒนาประเทศ และช่วยเหลือประชาชน

หน้าที่กองทัพเรือ

  • การปกป้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
  • การรักษาสิทธิและอธิปไตยของชาติทางทะเล
  • การคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
  • การดำรงการคมนาคมทางทะเลให้ได้อย่างต่อเนื่อง
  • การช่วยเหลือและสนับสนุนการป้องกันอธิปไตยทางบก
  • การสนับสนุนการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
  • การสนับสนุนการพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชน

คุณสมบัติทหารเรือไทย

คุณสมบัติทหารเรือไทย มีสิ่งสำคัญหลักๆอยู่ทั้งหมด 5 ประการ ได้แก่

  1. มีความรู้
    • จะต้องขวนขวายหาความรู้และฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ
    • รู้จักถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้อื่น
    • รู้จักใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์
  2. เป็นผู้นำทางทหาร
    • มีลักษณะท่าทางองอาจสมเป็นทหาร และมีความ เข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ
    • มีระเบียบวินัย
    • มีความสำนึกในหน้าที่ กล้าตัดสินใจ และรับผิดชอบ
    • มีมนุษยสัมพันธ์ดี
    • มีจิตใจแน่วแน่ไม่ท้อถอย
    • มีความอดทนพากเพียรและกระตือรือร้น
    • มีความริเริ่ม
    • มีความเป็นธรรม
    • มีไหวพริบ
  3. มีความซื่อสัตย์และความจงรักภักดี
  4. เป็นสุภาพบุรุษ
    • มีความเมตตา กรุณา เสียสละ ไม่อิจฉาริษยา
    • มีคุณธรรมและจริยธรรม
    • มีความสุภาพอ่อนโยน
    • รู้จักกาลเทศะ
  5. มีความละเอียดรอบคอบไม่ประมาท