ความรู้ทั่วไปของกองทัพอากาศไทย

1024
ความรู้ทั่วไปของกองทัพอากาศไทย-2
ความรู้ทั่วไปของกองทัพอากาศไทย-2

กองทัพอากาศไทย จะมีการเปิดรับสมัครเข้าร่วมกองทัพอากาศไทย อยู่ทุกๆปี ตามแต่ความต้องการของในปี หรือหน่วยงานนั้นๆไป โดยตัวกองทัพจะมีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพอากาศ การป้องกันราชอาณาจักร และดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังกองทัพอากาศตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม

ประวัติโดยย่อของกองทัพอากาศไทย

กองทัพอากาศไทยมีจุดเริ่มต้นมาจากแนวความคิดให้มีเครื่องบินใช้ในราชการ ของรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 6 โดยในขณะนั้นเกิดมีชาวเบลเยี่ยมชื่อ Van Den Born ได้นำเครื่องบินแบบออร์วิลไรท์มาแสดงการบินในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ณ สนามม้าสระปทุม เพื่อเป็นการแสดงการบินสู่สายตาประชาชนชาวไทย ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2453 (ค.ศ. 1911) จอมพล สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ได้ทรงเห็นความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องจัดหาอากาศยานไว้ป้องกันประเทศ จึงได้ทรงดำริจัดตั้งกิจการการบินขึ้นเป็นแผนกหนึ่งของกองทัพบก อยู่ที่สนามราชกรีฑาสโมสร (สนามม้าสระปทุม) ภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน และส่งนายทหารไปเรียนวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส จำนวน 3 นาย ได้แก่

  • นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (สุนี สุวรรณประทีป) ต่อมาเป็น พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ
  • นายร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกร (หลง สินศุข) ต่อมาเป็น นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์
  • นายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต ต่อมาเป็น นาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต

ต่อมา หลังจากท่านทั้งสามสำเร็จวิชาการบิน ก็ได้ซื้อเครื่องบิน 2 แบบ 8 ลำ คือ Nieuport และ Breguet แบบละ 4 ลำ โดยในระยะแรกได้ใช้สนามม้าสระปทุมเป็นสนามบิน แต่ด้วยปัญหาบางปอย่างทำให้สนามม้าสระปทุมไม่สามารถรองรับกิจการการบินที่เติบโตขึ้นได้ จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ จึงได้ทรงย้ายที่ตั้งแผนกการบิน มาตั้งที่ตำบลดอนเมืองในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2457 และทรงยกฐานะแผนกการบิน เป็น กองบินทหารบก ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2457 ด้วยเหตุนี้กระทรวงกลาโหมจึงได้ยึดถือวันนี้เป็น วันที่ระลึกกองทัพอากาศ นั่นเอง

* ในปัจจุบัน กองทัพอากาศมีกำลังทางอากาศทั้งสิ้น 11 กองบิน กับ 1โรงเรียนการบิน โดยมีอากาศยานรวมเกือบถึง 320 ลำ

ภารกิจตามกฎหมาย ของ กองทัพอากาศไทย

กองทัพอากาศจะมีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพอากาศ และป้องกันราชอาณาจักร พร้อมทั้งการพัฒนาประเทศ และแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดความขัดแย้งในระดับต่างๆ โดยดำรงระดับความพร้อมของขีดความสามารถอยู่ตลอดเวลา ด้วยการเสริมสร้างศักยภาพกำลังทางอากาศให้มีคุณภาพ และครอบครองเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับมิตรประเทศ และดำรงความเข้มข้นในความรับผิดชอบต่อภารกิจตามกฎหมายโดยเฉพาะในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ และการพัฒนาประเทศตามแนวคิดทางยุทธศาสตร์

ภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย ของ กองทัพอากาศไทย

กองทัพอากาศไทย นั้นต้องมีความพร้อมปฏิบัติการทั้งในส่วนของยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย สามารถไปปฏิบัติงานร่วมกับต่างประเทศได้ พร้อมกำลังพลในรูปของหน่วยบิน/หน่วย-ชุดปฏิบัติการ/เจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญประเภทต่างๆ เพื่อปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายร่วมกับกำลังของต่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างเป็นลำดับ ได้แก่ การรักษาสันติภาพ การช่วยเหลือมนุษยธรรม และการบรรเทาภัยพิบัติ

วิสัยทัศน์ ของ กองทัพอากาศไทย

กองทัพอากาศไทยต้องการพัฒนาสู่ “กองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาค” หรือ “O​ne of the Best Air Forces in ASEAN” ซึ่งอีกนัยหนึ่ง คือ การเป็นกองทัพอากาศที่มีขีดความสามารถในทุกมิติอยู่ในระดับ 1 ใน 3 ของภูมิภาคอาเซียน บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าการก้าวไปสู่วิสัยทัศน์กองทัพอากาศอย่างเป็นระบบเป็นรูปธรรม และมีความยั่งยืนกองทัพอากาศจึงได้กำหนดจุดเน้นของทิศทางการพัฒนาในแต่ละระยะไว้ 3 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 พ.ศ.2551-2554 กองทัพอากาศดิจิตอล (Digital Air Force : DAF) มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการรบและการปฏิบัติการที่มิใช่การรบเพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามในทุกรูปแบบ โดยกองทัพอากาศต้องสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเป็นหลัก และบูรณาการเทคโนโลยีกำลังทางอากาศ เทคโนโลยีเครือข่าย และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจของกองทัพอากาศเป็นไปอย่างรวดเร็ว เหมาะสม ทันตามความต้องการในทุกสถานการณ์ อันจะเป็นพื้นฐานการพัฒนาสู่การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลา
  • ระยะที่ 2 พ.ศ.2555-2558 กองทัพอากาศที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (Network Centric Air Force : NCAF) มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการรบและการปฏิบัติการที่ไม่ใช่การรบ เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามในทุกรูปแบบรวมถึงภัยคุกคามรูปแบบใหม่ในยุคสงครามที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง โดยกองทัพอากาศต้องสามารถประยุกต์แนวคิดการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (NCO) ได้อย่างสมบูรณ์ และต้องสามารถใช้เทคโนโลยีเครือข่ายและระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีได้บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง
  • ระยะที่ 3 พ.ศ.2559-2562 กองทัพอากาศจะขับเคลื่อนไปสู่ การเป็น “กองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาค” โดยสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิตอลและแนวคิดการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (NCO) ในการปฏิบัติการรบและการปฏิบัติการที่มิใช่การรบ เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามในทุกรูปแบบ ได้อย่างมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด

พันธกิจ ของ กองทัพอากาศไทย

พันธกิจ ของ กองทัพอากาศไทย จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ดังนี้

  • การเตรียมความพร้อม
    • กองทัพอากาศต้องเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติภารกิจภายใต้ การจัดโครงสร้างกำลังรบและส่วนสนับสนุนที่เหมาะสมภายใต้การบริหารจัดการ การฝึกอบรม การพัฒนากำลังพล และการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ ให้สามารถที่จะวางกำลังหน่วยปฏิบัติการในระดับต่างๆ ได้อย่างเต็มความสามารถ โดยในยามปกติจัดฐานที่ตั้งเป็นฐานบินปฏิบัติการหลัก ฐานบินปฏิบัติการหน้า ฐานบินปฏิบัติการพิเศษ ฐานบินปฏิบัติการสำรอง และสนามบินเฉพาะกิจ รวมถึงการประกอบกำลังที่มีหน่วยตัดสินตกลงใจ โดยมีศูนย์ปฏิบัติการในแต่ละระดับ สามารถบัญชาการและควบคุมตามที่ได้รับมอบอำนาจ เพื่ออำนวยการปฏิบัติการใช้กำลังทางอากาศทั้งในประเทศและนอกประเทศ
  • การใช้กำลัง
    • กองทัพอากาศจะมีพันธกิจในการใช้กำลังทางอากาศในยามปกติคือ การเฝ้าตรวจระวังภัยทางอากาศ ซึ่งรวมถึงการควบคุมเส้นทางสัญจรเข้าออกรอบประเทศ ในยามสงครามก็พร้อมทีจะใช้กำลังทางอากาศในการดำเนินกลยุทธ์ร่วมกับหน่วยกำลังอื่นๆ ทั้งการปฏิบัติสงครามอันเป็นการใช้กำลังในการป้องกันประเทศ การพิทักษ์ผลประโยชน์แห่งชาติ และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในทุกระดับ ขณะเดียวกันกองทัพอากาศก็พร้อมที่จะใช้กำลังกองทัพอากาศเพื่อการพัฒนาประเทศและการช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติในยามวิกฤติต่าง ๆ เช่น การบรรเทาสาธารณภัยอันเกิดจากอุบัติภัยหรือภัยพิบัติจากธรรมชาติ การต่อต้านอาชญากรรม การปราบปรามยาเสพติด การสำรวจและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการฟื้นฟูภัยพิบัติสาธารณะต่าง ๆ

ติดต่อสอบถามหรือแสดงความคิดเห็น​​กองทัพทหารอากาศ

  • โทร. 0-2534-6000​
  • โทรสาร 0-2534-1930​​
  • Website rtaf.mi.th