อยากเป็นนายสิบสัสดี ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

2402
นายสิบแผนที่ทหาร
นายสิบแผนที่ทหาร

อาชีพทหารคือสิ่งที่ชายไทยหลายคนใฝ่ฝัน โดยเฉพาะตอนที่ไปคัดเลือกทหารเราจะเห็นว่ามีพี่ทหารที่แต่งตัว ดูดีในเครื่องแบบอันทรงเกียรติ ภูมิฐาน เรียกว่าเป็นต้นแบบอาชีพในฝันเลยก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นบทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ ทหารสายงานที่เกี่ยวกับการคัดเลือกทหาร ซึ่งมีหน้าที่รวบรวมบัญชีคน หรือที่เรียกกันว่า สัสดี เพื่อเป็นความรู้ให้กับผู้ที่กำลังสนใจสายงานนี้ ต่อไป

ทำความรู้จักกับ นายสิบสัสดี คือใครและทำหน้าที่อะไรบ้าง

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ สัสดี กันก่อน สัสดี (อ่านว่า สัดสะดี) มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 หมายถึง เจ้าหน้าที่บัญชีทหาร หรือเจ้าหน้าที่บัญชีคน หรือ ผู้รวบรวมบัญชีคน งานการสัสดี มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เจ้าหน้าสัสดี มีภารกิจสำคัญในการดำเนินการเพื่อให้ได้ชายฉกรรจ์ที่เป็นคนสัญชาติไทยมาเป็นทหารเพื่อป้องกันประเทศชาติ

เส้นทางสู่การเป็นนายสิบสัสดี

นายสิบสัสดีมีการเปิดสอบมาโดยตลอด ซึ่งจะเปิดเป็นประจำทุกปี เพื่อทำหน้าที่ตำแหน่งเสมียนสัสดีประจำอำเภอ เสมียนสัสดีประจำจังหวัด ส่วนใหญ่แล้วชายไทยที่อายุเข้าเกณฑ์ทหารจะต้องได้พบกับสัสดีทุกคน ซึ่งเมื่อคุณทำการสมัครสอบคัดเลือก และเป็นผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้ารับการฝึกอบรมวิชาที่เกี่ยวกับนายทหารประทวนสายสัสดีชั้นต้น ซึ่งจะต้องทำการอบรมที่โรงเรียนการสำรอง ที่ค่ายธนะรัชต์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ใช้เวลาในการอบรมประมาณ 14 วัน เมื่อทำการอบรมเสร็จก็ไปทำงานตามตำแหน่งที่ได้เลือกไว้ต่อไป

คุณสมบัติของผู้ที่ต้องการสมัครนายสิบสัสดี

  • สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) หรือเทียบเท่า (ไม่รับผู้ที่ยื่นวุฒิการศึกษาที่สูงกว่า)
  • เพศชาย อายุตั้งแต่ 18 ปี ถึง 30 ปี ( เกิดปี พ.ศ. 2534 ถึง 2546 )
  • เป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 อย่างใดอย่างหนึ่ง (หรืออยู่ระหว่างขึ้นทะเบียนกองประจำการและนำปลด) ดังนี้
    • เป็นผู้สำเร็จการฝึกวิชาทหาร ตั้งแต่ชั้นปีที่ 3 และได้ขึ้นทะเบียนและได้นำปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 เรียบร้อยแล้ว
    • เป็นผู้เข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการจนครบกำหนดและได้ปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 เรียบร้อยแล้ว
  • เป็นผู้มีคุณสมบัติทั่วไปตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
  • มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ตามกฎหมาย
  • ไม่เป็นโรคที่ขัดต่อการบรรจุเข้ารับราชการทหาร
  • มีอวัยวะ รูปร่าง ลักษณะท่าทาง และขนาดของร่างกายเหมาะแก่การเป็นทหาร ไม่เป็นโรคหรือสภาพร่างกายและจิตใจ ซึ่งไม่สามารถรับราชการทหารได้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 74 (พ.ศ.2540) และกฎกระทรวงฉบับที่ 76 (พ.ศ.2555) ออกตามความในมาตรา 41 และ มาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 โดยมีความสูงตั้งแต่ 160 ซม. ขึ้นไป มีขนาดรอบตัวตั้งแต่ 76 ซม. ขึ้นไป ในเวลาหายใจออกและมีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 48 กิโลกรัม ขึ้นไป
  • ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีงาม
  • ไม่เป็นผู้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือ ไม่เคยต้องทำพิพากษาของศาลให้เป็นบุคคลล้มละลาย
  • ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างเป็นจําเลยในคดีอาญาและไม่เคยต้องโทษจําคุกตามคําพิพากษาของศาล ในคดีอาญายกเว้นแต่ความผิดฐานประมาทหรือลหุโทษ
  • ไม่อยู่ในสมณเพศ
  • ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างพักราชการเนื่องจากความผิด หรือหนีราชการ
  • ไม่เป็นผู้เคยถูกให้ออกจากราชการเพราะความผิดหรือมีมลทินหรือมัวหมอง
  • ไม่เป็นผู้เสพยาเสพติดหรือสารเคมีเสพติดให้โทษ หรือ มีประวัติคดีอาญาข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติด
  • เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  • ต้องผ่านการทดสอบร่างกายตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการสอบคัดเลือกกำหนด

การสอบคัดเลือกนายสิบสัสดี

การสอบจะแบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ

  1. การสอบภาควิชาการ 4 วิชา มีประมาณ 120 ข้อ
    • ภาษาไทย
    • ภาษาอังกฤษ
    • ความรู้ทั่วไป
    •  คอมพิวเตอร์เบื้องต้น การใช้งาน Microsoft Windows และ Microsoft Office
  2. การทดสอบร่างกาย
    • วิ่ง 800 เมตร
    • ดันพื้น
    • ลุก – นั่ง

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สมัครสอบนายสิบสัสดีจะต้องผ่านการเรียน รด.ปี 3ขึ้นไป หรือเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 อย่างใดอย่างหนึ่ง สำหรับผู้ที่จับได้ใบดำวันตรวจเลือกทหารไม่สามารถสมัครสอบได้ เมื่ออบรมตามหลักสูตรเสร็จเรียบร้อยจะบรรจุแต่งตั้งยศสิบตรี และในอนาคตคุณสามารถสอบเลื่อนเป็นตำแหน่งสัญญาบัตรได้ วุฒิที่ใช้ในการปรับคือ ปริญญาตรี นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์