ข้อควรรู้เกี่ยวกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ

970
ข้อควรรู้เกี่ยวกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ
ข้อควรรู้เกี่ยวกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (Department of Special Investigation) นับเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่สังกัดอยู่ในกระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่เพื่อป้องกัน ปราบปราม และควบคุมอาชญากรรมที่มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

เหตุผลที่ต้องก่อตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ

โดยจากสถานการณ์ของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การพัฒนาด้านเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจสังคมการเมืองวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมตลอดถึงการก่ออาชญากรรมต่างๆ ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดอาชญากรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาล และการใช้ช่องว่างของกฎหมายปิดบังความผิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรงเป็นจำนวนมาก ทั้งบางจำพวกยังมีอิทธิพลและเครืองข่ายองค์กรที่โยงใยทั้งภายในและภายนอกประเทศทำให้ยากต่อการสืบสวนสอบสวน นี่จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษขึ้นมา

โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Department of Special Investigation หรือมีชื่อย่อที่ถูกเรียกกันบ่อยครั้งคือ DSI

อำนาจหน้าที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ

  • ต้องรับผิดชอบงานเลขานุการของคณะกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • คอยป้องกัน ปราบปราม สืบสวน และสอบสวนคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการคดีพิเศษประกาศกำหนดเอาไว้ หรือตามมติของคณะกรรมการคดีพิเศษ ไปจนถึงการปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับ ความผิดทางอาญาที่เป็นคดีพิเศษ
  • ศึกษา รวบรวม จัดระบบ และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และเพื่อป้องกัน ปราบปราม สืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษ
  • จัดให้มีการศึกษา อบรม และพัฒนาระบบงานการสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อการพัฒนาความรู้และการประเมินสมรรถภาพการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงานราชการและลูกจ้างของกรม และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะมีฐานะเป็นพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ หรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษหรือไม่
  • ดำเนินการเกี่ยวกับงานกฎหมาย และระเบียบที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรม และงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
  • ปฏิบัติการอื่นใดก็ตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมหรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ภารกิจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ

ภารกิจกรมสอบสวนคดีพิเศษ คือ การป้องกัน การปราบปราม การสืบสวนและการสอบสวนคดีความผิดทางอาญาที่ต้องดำเนินการสืบสวนและสอบสวนโดยใช้วิธีการพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ

วิสัยทัศน์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ

กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นองค์การหลักในการบังคับใช้กฎหมายกับอาชญากรรมพิเศษตามมาตรฐานสากล โดยจะมีการกำหนดความหมายของวิสัยทัศน์ไว้ดังต่อไปนี้

  • การบังคับใช้กฎหมาย หมายถึง การใช้อำนาจการสืบสวนสอบสวนตามที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และแก้ไขเพิ่มเติม
  • อาชญากรรมพิเศษ หมายถึง อาชญากรรมซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากอาชญากรรมพื้นฐาน เป็นอาชญากรรมที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องได้รับความสนใจเป็นกรณีพิเศษ โดยมีความละเอียดและซับซ้อน ยุ่งยาก และร้ายแรง อาทิ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (White Collar Crime) องค์กรอาชญากรรม (Organization Crime) อาชญากรรมข้ามชาติ (Transnational Crime)
  • มาตรฐานสากล หมายถึง หลักเกณฑ์มาตรฐานที่เป็นไปตามเกณฑ์ตัวชี้วัดหลักนิติธรรมขององค์การสหประชาชาติ (The United Nations Rule of Law Indicators) ประกอบด้วย หลักประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน, หลักความเที่ยงตรง เป็นกลาง ความรับผิดชอบและความโปร่งใส, หลักการคุ้มครองบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการถูกละเมิด และหลักศักยภาพ โดยมีการประเมินด้วยตัวชี้วัด (KPIs) จำนวน 7 ตัว ได้แก่
    • การบรรลุเป้าหมายและผลผลิต
    • ความเชื่อมั่นจากสังคม
    • การทำงานที่ยึดถือเป้าหมายและความรับผิดชอบร่วมกัน
    • ความโปร่งใส
    • ความพร้อมด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ
    • ความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคล
    • ประสิทธิภาพในการบริหารงาน

พันธกิจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ

“ป้องกัน ปราบปราม สืบสวน สอบสวนและดำเนินคดีพิเศษอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความเป็นธรรม”

เป้าหมาย กรมสอบสวนคดีพิเศษ

  • การสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษที่มีมาตรฐานสูง
  • กระบวนการสนับสนุนที่จะเสริมสร้างประสิทธิภาพการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษที่เป็นรูปธรรม
  • ผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเชื่อมั่นในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ
  • อัยการเห็นพ้องกับความเห็นของพนักงานสอบสวนในสำนวนคดีพิเศษ
  • ศาลพิพากษาสอดคล้องกับสำนวนคดีพิเศษ
  • มูลค่าทรัพย์สินและผลประโยชน์ของรัฐ เอกชน และประชาชนได้รับการปกป้อง รักษา เรียกคืน
  • บุคลากรเชี่ยวชาญในงานต้องมีคุณธรรม จริยธรรม และมีความผาสุก
  • มีวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งไปสู่การอำนวยความยุติธรรม
  • ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลที่เชื่อมโยง ทันสมัย และปลอดภัย
  • มีนวัตกรรม และเครื่องมือต่างๆสนับสนุนการสืบสวนสอบสวนที่มีประสิทธิภาพ และทันสมัย
  • การป้องกันอาชญากรรมพิเศษอย่างเป็นระบบ
  • ประชาชนสามารถรับรู้ เข้าใจ ภารกิจกรมสอบสวนคดีพิเศษ และตระหนักถึงภัยอาชญากรรมพิเศษ

หน่วยงานในสังกัดกรมสอบสวนคดีพิเศษ

  • หน่วยงานให้มีตามกฎกระทรวงฯ
    • กลุ่มตรวจสอบภายใน
    • กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
  • หน่วยงานตามกฎกระทรวงฯ
    • สำนักงานเลขานุการกรม
    • กองกฎหมาย
    • กองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ
    • กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    • กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน
    • กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
    • กองคดีความมั่นคง
    • กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค
    • กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ
    • กองคดีทรัพย์สินทางปัญญา
    • กองคดีการค้ามนุษย์
    • กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ
    • กองคดีภาษีอากร
    • กองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ
    • กองนโยบายและยุทธศาสตร์
    • กองบริหารคดีพิเศษ
    • กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค
    • กองปฏิบัติการพิเศษ
    • กองพัฒนาและสนับสนุนคดีพิเศษ