รวม 25 เรื่อง โรงเรียนการไปรษณีย์ไทย

1625
โรงเรียนการไปรษณีย์ไทย
โรงเรียนการไปรษณีย์ไทย
เนื้อหา ซ่อน

1.โรงเรียนการไปรษณีย์ไทย คือ

โรงเรียนการไปรษณีย์ คือ สถาบันวิชาชีพเฉพาะทาง อยู่ในความควบคุมของฝ่ายพัฒนาบุคลากร บริษัท ไปรษณีย์ไทยจำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยจะมีประกาศเปิดรับสมัครเข้าโรงเรียนการไปรษณีย์ไทย ในทุกๆปี ส่วนตัวโรงเรียนจะมีหน้าที่ผลิตบุคลากรทางด้านงานไปรษณีย์โดยเฉพาะ เพื่อบรรจุเข้าทำงานเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ในปัจจุบันโรงเรียนได้ตั้งอยู่ภายในสำนักงานใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

2.โรงเรียนการไปรษณีย์ไทย ประวัติ

โรงเรียนการไปรษณีย์ มีชื่อเดิมในช่วงก่อตั้งว่า โรงเรียนกรมไปรษณีย์โทรเลข ได้ถูกสถาปนาก่อตั้งขึ้นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2432 ตามพระดำริของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ที่มีความต้องการให้มีการผลิตบุคลากรที่ทำงานในด้านนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากทรงเล็งเห็นความสำคัญของการไปรษณีย์โทรเลขซึ่งมีการเติบโตมากขึ้นในขณะนั้น

หลังจากนั้นช่วง พ.ศ. 2487 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเป็นเหตุให้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนบ้านสมเด็จ ต่อมา พ.ศ. 2487 เรียนที่แพร่งนราโดยการเช่าอาคารของวังกรมพระนราธิปพงศ์ประพันธ์

ต่อมา พ.ศ. 2496 ปรับปรุงสถานที่ตึกไปรษณียาคาร 1 ที่วัดเลียบ (ใช้อาคารเดียวกันกับสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ป.ณ.) เป็นที่ตั้งโรงเรียนกรมไปรษณีย์โทรเลข

พ.ศ. 2506 โรงเรียนกรมไปรษณีย์โทรเลข มีสถานที่เรียนเป็นสัดส่วน สร้างอาคารเรียน ที่ซอยสายลม ถนนพหลโยธิน (เมื่อจัดตั้งการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ ได้แยกฝ่ายปฏิบัติการออกไป ฝ่ายบริหารความถี่วิทยุ สำนักงานเลขานุการกรมไปรษณีย์โทรเลขได้ไปใช้ ตึกที่ทำการกรมไปรษณีย์โทรเลข และต่อมาทุบตึกทิ้ง สร้างเป็นตึกสำนักงาน กทช.แทน

พ.ศ. 2519 มีการปรับปรุงกิจการไปรษณีย์และโทรคมนาคมให้มีความคล่องตัวในระบบการบริหาร เพื่อให้เกิดการบริการที่มีประสิทธิภาพ จนเกิดการพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของกรมไปรษณีย์โทรเลข เมื่อมีประกาศใช้พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 เพื่อแยกงานระดับปฏิบัติการออกไป และจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีชื่อว่า “การสื่อสารแห่งประเทศไทย” สังกัดกระทรวงคมนาคม จึงทำให้โรงเรียนกรมไปรษณีย์โทรเลขเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนการไปรษณีย์และโทรคมนาคม” โดยมีการจัดการเรียนการสอนแผนกวิชาไปรษณีย์และแผนกวิชาโทรคมนาคม

พ.ศ. 2522 ทำการย้ายที่ตั้งโรงเรียนไปสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ ณ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ (ในปัจจุบัน) มีชื่อว่า “โรงเรียนการไปรษณีย์และโทรคมนาคม”

พ.ศ. 2546 คณะรัฐมนตรี ได้มีมิติแปลงสภาพการสื่อสารแห่งประเทศไทย มาจัดตั้งเป็นบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2546

พ.ศ. 2547 โรงเรียนการไปรษณีย์และโทรคมนาคม ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนการไปรษณีย์” โดยมีการจัดการเรียนการสอนเฉพาะระบบงานไปรษณีย์และหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง จนมาถึงปัจจุบัน

3.หลักสูตร โรงเรียนการไปรษณีย์ไทย

หลักสูตรของโรงเรียนการไปรษณีย์ ในปัจจุบันจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ภาค คือ ภาคปกติ และภาคปฏิบัติ

4.การเปิดรับสมัคร โรงเรียนการไปรษณีย์ไทย

การเปิดรับสมัคร โรงเรียนการไปรษณีย์ไทย สามารถตรวจสอบวันเปิดรับ และสอบถามข้อมูลรายละเอียดการรับสมัครเพื่อเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนการไปรษณีย์ได้ที่ เว็บไซต์ www.thailandpost.co.th หรือที่ทำการไปรษณีย์ใกล้บ้าน

5.คุณวุฒิที่ใช้สมัครเข้า โรงเรียนการไปรษณีย์ไทย

คุณวุฒิที่ใช้สมัครเข้า โรงเรียนการไปรษณีย์ไทย จำเป็นต้องสำเร็จหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ ม.6 หรือสำเร็จหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่วงชั้นที่ 4 สายการเรียน วิทย์ – คณิต และเกรดเฉลี่ยสะสม นั้นต้องไม่ต่ำกว่า 2.00 และยังต้องผ่านการเรียนนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 หรือผ่านการเกณฑ์ ทหารกองเกินเข้าเป็นทหารประจำการแล้ว

6.คุณสมบัติของผู้สมัคร โรงเรียนการไปรษณีย์ไทย

คุณสมบัติของผู้สมัคร โรงเรียนการไปรษณีย์ไทย จะมีดังต่อไปนี้

  • สัญชาติไทย
  • เพศหญิง-เพศชาย ผ่านการเรียนหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 หรือ ผ่านการเกณฑ์ ทหารกองเกินเข้าเป็นทหารประจำการแล้ว
  • มีอายุไม่ต่ำกว่า 17 ปีและไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์นับถึงวันปิดรับสมัคร
  • ไม่เคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่โทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
  • เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญไทย
  • มีร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพ ไร้ความสามารถหรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบหรือเป็นโรคดังต่อไปนี้
    • โรคเรื้อน
    • วัณโรคในระยะอันตราย
    • โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
    • โรคยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง
  • ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างพักราชการ พักงาน หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ ออกจากงานไว้ก่อนหรือต้องหาคดีอาญาอันมิใช่ความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
  • ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี
  • ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
  • ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก ไล่ออกเพราะกระทำผิดวินัยจากหน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจหรือบริษัท
  • ไม่เคยถูกลงโทษให้ออก ไล่ออกจากสถานศึกษาใดๆ

7. วิชาที่สอบคัดเลือก โรงเรียนการไปรษณีย์ไทย

วิชาที่สอบคัดเลือก โรงเรียนการไปรษณีย์ไทย มีดังนี้

  • คณิตศาสตร์
  • ภาษาไทย
  • ภาษาอังกฤษ
  • คอมพิวเตอร์เบื้องต้น
  • ทดสอบทัศนคติ

8.ค่าใช้จ่ายในการเข้าศึกษาโรงเรียนการไปรษณีย์

  • ค่าบำรุงการศึกษา ค่าประกันอุบัติเหตุและค่ากิจกรรม จำนวน 10,000 บาท
  • ค่าเครื่องแบบนักเรียนโรงเรียน กระเป๋าและสมุดนักเรียน ฯลฯ ประมาณ 5,000 บาท

9.สิทธิของนักเรียน ในระหว่างการศึกษาและเมื่อสำเร็จการศึกษา

  • ระหว่างการศึกษา
    • บริการห้องสมุดของฝ่ายพัฒนาบุคลากร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
    • เข้ารับการรักษาพยาบาลเบื้องต้น ได้ที่ฝ่ายสุขภาพและอนามัยของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
  • เมื่อสำเร็จการศึกษา
    • ได้รับประกาศนียบัตรโรงเรียนการไปรษณีย์
    • ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานระดับ 2 ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
    • ผู้สำเร็จการศึกษาที่สอบได้คะแนนเฉลี่ยตลอดปีการศึกษาตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไปมีสิทธิได้รับทุนการศึกษาในระดับปริญญาตรีตามข้อกำหนดของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

10.ข้อผูกพันต่อ ไปรษณีย์ไทย

ข้อผูกพันต่อ ไปรษณีย์ไทย ในระหว่างการศึกษานั้น หากออกจากการเป็นนักเรียนโรงเรียนการไปรษณีย์บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ก่อนสำเร็จการศึกษาตามที่กำหนดไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม (ยกเว้น กรณีมีปัญหาเรื่องสุขภาพ หรือถึงแก่ ความตาย หรือบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เห็นสมควรให้ออกได้) ผู้ค้ำประกันยินยอมชดใช้เงิน ให้แก่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนการไปรษณีย์และเข้าปฏิบัติงานเป็นพนักงานของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ไม่ครบ 3 ปีบริบูรณ์หรือต้องออจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าว ไม่ว่ากรณีใดๆ ผู้ค้ำประกันจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นจำนวนเงินปีละ 50,000 บาท

11.ทำเนียบอาจารย์ใหญ่โรงเรียนการไปรษณีย์

  1. ขุนวิทยุวากยวิจารณ์ (เขียน พลรัตน์)
  2. นายระเบียบ (พิชิต) คมสัน
  3. นายสว่าง สงวนวงศ์
  4. นายอวบ พงษ์ปรีชา (พ.ศ. 2486-2504)
  5. นายนินนาท สุขะจาติ (พ.ศ. 2505-2516)
  6. นายวีระ เตชะภัทร (พ.ศ. 2517-2521)
  7. นายสงวน สังขชาติ (พ.ศ. 2522-2536)
  8. นายสมศักดิ์ มาพบสุข (พ.ศ. 2537-2541)
  9. นายวัฒนไชย สุวรรณโณ (พ.ศ. 2546-2547)
  10. นายสมชาย ไกรทอง (พ.ศ. 2547-2551)
  11. นายไมตรี สังข์สุข (พ.ศ. 2552-2558)
  12. นายประเสริฐ ชัยพรตระกูลกิจ (พ.ศ. 2558-ปัจจุบัน)

12.วิสัยทัศน์ของโรงเรียนการไปรษณีย์

เป็นสถาบันการศึกษาด้านไปรษณีย์ที่ผลิตบุคลากรที่มีสมรรถนะตามความต้องการของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

13.สมรรถนะของนักเรียนโรงเรียนการไปรษณีย์

ซื่อสัตย์ สามัคคี มีวินัย และสำนึกในการให้บริการที่ดี

14.สถานที่เรียน โรงเรียนการไปรษณีย์

สถานที่เรียน โรงเรียนการไปรษณีย์ ปัจจุบันได้ตั้งอยู่ภายในสำนักงานใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร


15.ความก้าวหน้าของอาชีพ

  • เมื่อเรียนจบแล้วจะได้รับบรรจุเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจระดับ 2
  • เรียนจบต้องทำงานในส่วนที่ได้รับมอบหมาย 2 ปีก่อน จึงขอย้ายกลับภูมิลำเนาได้
  • สามารถเรียนต่อปริญญาตรี ในช่วงเวลาหลังเลิกงานได้

16.คุณสมบัติของผู้สมัคร หลักสูตรโรงเรียนการไปรษณีย์ (ภาคสมทบ)

เป็นพนักงานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปี (นับถึงวันปิดรับสมัคร) หรือเป็นลูกจ้างประจำ ซึ่งมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนต้น และต้องเป็นลูกจ้างประจำมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี มีจำนวนวันลาป่วยและลากิจรวมกันไม่เกิน 20 วันทำงานยกเว้นลาป่วยเพราะประสบอันตรายในขณะปฏิบัติงานตามหน้าที่ และหรือในขณะเดินทางไปหรือกลับจากการปฏิบัติงาน ทั้งนี้วันลากิจจะต้องไม่เกิน 5 วันทำงาน และสำหรับการมาทำงานสายต้องไม่เกิน 15 วันทำงาน โดย ให้พิจารณาย้อนหลัง 1 ปี

17.การสอบคัดเลือก หลักสูตรโรงเรียนการไปรษณีย์ (ภาคสมทบ)

ทดสอบความรู้และความสามารถ โดยการสอบข้อเขียนตาม โดยจะมีหัวข้อ ดังนี้

  • ข้อบังคับและระเบียบในการปฏิบัติงาน ปณท (คะแนนเต็ม 50 คะแนน)
  • หลักการไปรษณีย์ทั่วไปเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของที่ทำการ (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)
  • คอมพิวเตอร์เบื้องต้น (คะแนนเต็ม 50 คะแนน)
  • ภาษาอังกฤษ (คะแนนเต็ม 50 คะแนน)
  • ทดสอบแนวความคิด ทัศนคติในการทำงาน (คะแนนเต็ม 50 คะแนน)

*ผู้สมัครสอบคัดเลือกจะต้องได้คะแนนรวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 จึงจะถือว่าเป็นผู้ที่สอบผ่านการคัดเลือกและได้เข้าศึกษาในหลักสูตรตามจำนวนที่ ปณท กำหนดในแต่ละปีต่อไป

18.ค่าธรรมเนียมการศึกษา หลักสูตรโรงเรียนการไปรษณีย์ (ภาคสมทบ)

ค่าธรรมเนียมการศึกษาตลอดหลักสูตรการศึกษา เป็นเงินจำนวน 3,000 บาท ในกรณีที่สอบไม่ผ่านกลุ่มวิชาใด จะต้องจ่ายค่าลงทะเบียนสอบซ่อม กลุ่มวิชาละ 500 บาท

19.การสอนเสริมหลักสูตรโรงเรียนการไปรษณีย์ (ภาคสมทบ)

การสอนเสริมหลักสูตรโรงเรียนการไปรษณีย์ (ภาคสมทบ) จะมีขึ้นในแต่ละกลุ่มวิชาๆละ 3 ครั้ง จำนวน 18 ครั้ง ในส่วนกลาง เพื่อให้ผู้เรียนได้รับคำแนะนำความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับบทเรียนและส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้ผู้เรียนมีความรู้และความเข้าใจเพิ่มขึ้น โดยในการเข้าฟังการสอนเสริมผู้เรียนไม่มีสิทธิ์เบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าทำงานในวันหยุดจาก ปณท รวมทั้งไม่ถือเป็นวันลาอีกด้วย

20.การวัดและประเมินผลการศึกษา โรงเรียนการไปรษณีย์ (ภาคสมทบ)

การวัดและประเมินผลการศึกษา โรงเรียนการไปรษณีย์ (ภาคสมทบ) นั้น ผู้เรียนต้องสอบได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ในแต่ละกลุ่มวิชา จึงจะถือว่าสอบผ่านในกลุ่มวิชานั้นๆ

21.การสอบซ่อม โรงเรียนการไปรษณีย์ (ภาคสมทบ)

การสอบซ่อม โรงเรียนการไปรษณีย์ (ภาคสมทบ) ผู้เรียนจะสามารถสอบซ่อมได้เพียง 1 ครั้ง หากไม่ผ่านการสอบซ่อมจะสิ้นสถานภาพการเป็นผู้เรียนในปีนั้นๆ

โดยหากยังประสงค์จะเรียนหลักสูตรนี้ จำเป็นต้องสอบคัดเลือกใหม่ในปีต่อไปโดยสิทธิเข้าศึกษาหลักสูตรได้อีก 1 ครั้ง

22.การจัดทำรายงานในภาคปฏิบัติ โรงเรียนการไปรษณีย์ (ภาคสมทบ)

การจัดทำรายงานในภาคปฏิบัติ เป็นสิ่งที่ ผู้เรียนที่สอบผ่านในภาคทฤษฎีต้องจัดทำรายงานเกี่ยวกับขั้นตอนและการปฏิบัติงานเพื่อส่งหัวหน้ากลุ่มวิชาการไปรษณีย์และบริการการเงินให้พิจารณาตรวจรายงานต่อไป

23.การอบรม โรงเรียนการไปรษณีย์ (ภาคสมทบ)

การอบรม โรงเรียนการไปรษณีย์ (ภาคสมทบ) จะเกิดเมื่อผู้เรียนที่สอบผ่านภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยการได้รับการอบรมจำเป็นได้รับก่อนจะได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นฐานการใช้งานโปรแกรมสำเร็จรูปการรับฝาก ส่งต่อ และนำจ่ายด้วยระบบอัตโนมัติได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

24.การบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาจาก โรงเรียนการไปรษณีย์ไทย (ภาคสมทบ)

การบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาจาก โรงเรียนการไปรษณีย์ไทย (ภาคสมทบ) นั้นจะเริ่มเมื่อผู้เรียนสำเร็จการศึกษาแล้ว จะได้รับการบรรจุในตำแหน่งพนักงานระดับ 2 เทียบเท่าในอัตราเงินเดือนขั้นต้น เรียงตามลำดับที่สอบได้และตามอัตราที่ ปณท สามารถจัดสรรให้ได้ หากไม่ประสงค์จะบรรจุในตำแหน่งและสังกัดดังกล่าวจะถือผู้นั้นว่าสละสิทธิ และให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งและสังกัดเดิมในกรณีผู้สำเร็จการศึกษาเป็นผู้ที่มีระดับหรือขั้นอัตราเงินเดือนสูงกว่าที่กำหนดไว้ ปณท อาจเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ได้โดยไม่มีผลกระทบต่อระดับ และขั้นอัตราเงินเดือนเดิม ทั้งนี้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรโรงเรียนการไปรษณีย์ (ภาคสมทบ) ที่มีวุฒิการศึกษาแรกบรรจุสูงกว่านักเรียนโรงเรียนการไปรษณีย์จะให้ถือว่าเป็นการศึกษาเพื่อเพิ่มพูนความรู้และต้องปฏิบัติงานในตำแหน่งและสังกัดเดิม

25.ติดต่อ โรงเรียนการไปรษณีย์

สามารถติดต่อ โรงเรียนการไปรษณีย์ ได้ตามด้านล่างนี้

ที่อยู่ : 99/61 ถนน แจ้งวัฒนะ แขวง ทุ่งสองห้อง เขต หลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210

เวลาปิด ⋅ เปิด

  • วันจันทร์ : 8:30–16:00
  • วันอังคาร : 8:30–16:00
  • วันพุธ : 8:30–16:00
  • วันพฤหัสบดี : 8:30–16:00
  • วันศุกร์ : 8:30–16:00
  • วันเสาร์ : ปิดทำการ
  • วันอาทิตย์ : ปิดทำการ

เบอร์โทรศัพท์: 02 831 3775