ความรู้พื้นฐานของ ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.)

1607
ความรู้พื้นฐานของ ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.)
ความรู้พื้นฐานของ ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.)

ประวัติความเป็นมาของ ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.)

ข้าราชการตำรวจ เชื่อว่าเป็นอาชีพในฝันของใครหลาย ๆ คน เห็นได้จากการเปิดสมัครสอบนายร้อยตำรวจ ทั้งสายตรงโดยการสอบเข้าเรียนเตรียมทหาร สอบเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ หรือเปิดรับจากบุคคลภายนอกตามตำแหน่งที่ต้องการ และการสอบ ก.พ. ทุกสนามสอบที่เปิดในแต่ละปีจะมีผู้สมัครสอบเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นข้อมูลความรู้ให้กับผู้ที่สนใจ วันนี้ nine100 มี ประวัติความเป็นมาของ ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) มาแบ่งปันครับ 

ความหมายของข้าราชการตำรวจ  

ข้าราชการตำรวจ หมายถึง เจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง มีฐานะเป็นกรม และอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ตรวจตรารักษาความสงบ จับกุม และปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยทั่วไปข้าราชการตำรวจจะเรียกชื่อตามหน่วยงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบ เช่นตำรวจกองปราบ ตำรวจดับเพลิง ตำรวจน้ำ ตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจรถไฟ ตำรวจป่าไม้ ตำรวจจราจร ตำรวจนครบาล ตำรวจทางหลวง ตำรวจภูธร ตำรวจลับ ตำรวจวัง ตำรวจสภา ตำรวจสันติบาล และตำรวจทางหลวง 

สำหรับเส้นทางการสอบนายร้อยตำรวจ สวัสดิการและความก้าวหน้าในอาชีพข้าราชการตำรวจ บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของนายร้อยตำรวจ สายพนักงานสืบสวน สายพนักงานสอบสวน และสายงานป้องกันปราบปราม ซึ่งเป็นสายงานหลัก ๆ ที่ได้รับความสนใจหากใครติดตามจะทราบว่า nine100.com ได้นำเสนอไปแล้ว สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจข้อมูลเพื่อเตรียมตัวสอบนายร้อยตำรวจ สามารถติดตามอ่านได้จากเว็บไซต์นะครับ 

ประวัติความเป็นมาของ ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.)   

  • ตำรวจตระเวนชายแดน หรือ ตชด.เป็นตำรวจหน่วยหนึ่งในสังกัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจการจับกุมเช่นเดียวกับข้าราชการตำรวจในหน่วยงานอื่น ๆ แต่จะแตกต่างกันที่ตำรวจตระเวนชายแดนมีหน้าที่หรือภารกิจพิเศษ คือ ต้องตระเวนตรวจพื้นที่ตามแนวชายแดน หรือทำหน้าที่เปรียบเสมือนรั้วของชาติทำหน้าที่เช่นเดียวกับทหาร และ ตชด.จะถูกฝึกแบบทหารแต่เป็นหน่วยรบขนาดเล็ก ปฏิบัติหน้าที่เพื่อเป็นกำลังเสริม แทนการใช้กำลังทหาร ในการรักษาความสงบตามแนวตะเข็บชายแดน 
  • แนวความคิดในในการจัดตั้งหน่วยกำลัง “ตำรวจตระเวนชายแดน” เกิดจากช่วงหลัง สงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2484 และ สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2488 ประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดความไม่สงบ เนื่องจากประเทศคอมมิวนิสต์พยายามแผ่ขยายอิทธิพลเข้าสู่ภูมิภาคของโลก โดยการใช้สงครามเป็นบ่อนทำลายมีความพยายามและดำเนินการทั้งมวลที่จะให้ประชาชนของประเทศเหล่านั้นจับอาวุธเข้าต่อสู้รัฐบาลของตนและประชาชนที่เป็นชาติเดียวกันเอง รวมทั้ง ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเกิดการสู้รบระหว่างฝ่ายเวียตมินต์หรือฝ่ายเวียดนามคอมมิวนิสต์กับฝรั่งเศส มีการแทรกซึมของฝ่ายเวียตมินห์เข้าสู่ประเทศลาวและประเทศเขมร ประเทศไทยอยู่ในฐานะที่ถูกคุกคามได้ตลอดเวลา ทางด้านภาคเหนือของประเทศไทยได้มีการสู้รบกับระหว่างกองทัพของประเทศพม่ากับกองทหารจีนชาติ(ก๊กมินตั๋ง) ที่ถูกคอมมิวนิสต์ตีถอยร่นลงมาทางใต้ และได้เข้าอยู่ในพื้นที่เขตแดนพม่าตรงข้ามกับอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่อื่น ๆ ตรงข้ามกับจังหวัดเชียงรายและแม่ฮ่องสอน  

นอกจากนั้นกองทัพพม่ายังต่อสู้กับกะเหรี่ยงและไทยใหญ่ ที่เรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเอง ซึ่งอยู่ติดกับทางทิศตะวันตกและทิศเหนือของไทย  ส่วนทางด้านภาคใต้โจรจีนคอมมิวนิสต์ได้ใช้พื้นที่บริเวณชายแดนไทย – มาเลเซีย เป็นฐานทำการต่อสู้กับรัฐบาลของอังกฤษและรัฐบาลมาเลเซีย ประเทศไทยจึงอยู่ในภาวะที่จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่งเพราะภัยที่กำลังคุกคามประเทศรอบด้านในขณะที่เหตุการณ์ภายนอกประเทศมีแนวโน้มซึ่งแสดงการคุกคามต่อประเทศไทย ขณะเดียวกันภายในประเทศก็เกิดปฏิกิริยาของชาวญวนอพยพในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่น จังหวัดหนองคาย และจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นต้องเฝ้าระมัดระวัง 

รัฐบาลร่วมกับกรมตำรวจ จึงได้ร่วมกันพิจารณาหาแนวทางในการป้องกันที่จะมิให้เกิดความเสียหายต่อความสงบสุขและความมั่นคงของประเทศชาติ ประกอบกับงานในหน้าที่ความรับผิดชอบของตำรวจภูธรเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมก็ล้นมืออยู่แล้ว ในส่วนของการใช้กำลังทางทหารป้องกันและต่อสู้กับการคุกคามของคอมมิวนิสต์พิจารณาแล้วจะได้ผลไม่คุ้มค่า เนื่องจากเป็นการใช้ภารกิจด้านเดียวเพราะทหารไม่สามารถเข้าทำการปราบอาชญากรรมหรือให้การบริการแก่ประชาชนได้เหมือนข้าราชการตำรวจและพลเรือน 

ดังนั้นรัฐบาลและกรมตำรวจ จึงได้พิจารณาตกลงจัดตั้งหน่วยงานขึ้นใหม่ และต้องเป็นหน่วยงานที่มีลักษณะเป็นทั้ง ทหาร ตำรวจ และพลเรือน เมื่อไม่รบก็ต้องปราบปรามอาชญากรรม และในขณะเดียวกันก็ต้องบริการประชาชนได้หน่วยงานนั้น ซึ่งนอกจากจะเป็นผลต่อความมั่นคงปลอดภัย และรักษาความสงบตามชายแดน ยังสามารถดำเนินการตามนโยบายของทุกกระทรวง ทบวง กรม อีกด้วย หน่วยกำลัง “ตำรวจตระเวนชายแดน” จึงได้จัดตั้งขึ้นจากการพิจารณาร่วมกันระหว่างรัฐบาลและกรมตำรวจ ในปี พ.ศ. 2494 โดยกำหนดให้เป็น็นหน่วยที่มีคุณลักษณะ 3 ประการ ได้แก่ 

  1. สามารถทำการรบได้อย่างทหาร 
  2. สามารถป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมได้อย่างตำรวจ 
  3. สามารถดำเนินการพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนได้เช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือน 
  • วัตถุประสงค์และเป้าหมายสำคัญในการจัดตั้งหน่วยกำลัง “ตำรวจตระเวนชายแดน” ก็เพื่อเสริมกำลังตำรวจภูธรในการรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนและป้องกันการรุกรานของคอมมิวนิสต์ และยังเป็นการเตรียมกำลังตำรวจให้พร้อม เพื่อจะปฏิบัติการต่อต้านการรบนอกแบบโดยเฉพาะการรบแบบกองโจร เป็นการเตรียมกำลังตำรวจให้พร้อมที่จะสนับสนุนการปฏิบัติการของกองทัพอื่น ๆ ได้ทันที 

จุดประสงค์หลักอีกประการในการจัดตั้ง ตชด.ในช่วงแรกนอกจากป้องกันกองกำลังคอมมิวนิสต์ที่เข้ามารุกรานประเทศไทยแล้ว การที่จะมอบหมายให้หน่วยทหารที่มีอยู่ในขณะนั้น ปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณแนวชายแดนก็จะเป็นการขัดต่อสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่ระบุห้ามมิให้นำกำลังทหารไปวางไว้ ในระยะ 25 กิโลเมตร จากแนวแบ่งเขตชายแดน ไทย – ลาว และกัมพูชา 

  • ปัจจุบัน ตำรวจตระเวนชายแดน หรือ ตชด. มีหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดที่เข้ามาในประเทศ ไทยโดยเฉพาะยาบ้า และโดยทั่วไปตามแนวชายแดน จะมี ตชด. ประจำจุดสำคัญอยู่ทั่วประเทศ จุดละประมาณหนึ่งหมวดหรือ 30 นาย ทำหน้าที่หาข่าวและปราบปรามผู้ทำผิด กม.และอื่น ๆ    

วิสัยทัศน์ พันธกิจ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 

  • จุดหมายปลายทาง : สร้างตำรวจตระเวนชายแดนให้มีเกียรติศักดิ์ อุดมการณ์ และประสิทธิภาพ ในการรักษาความสงบ เรียบร้อย การสร้างความมั่นคง การพัฒนาและการช่วยเหลือประชาชน เพื่อความมั่นคงของชาติ 
  • วิสัยทัศน์ : กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เป็นหน่วยงานหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีความเชี่ยวชาญในการเฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาความมั่นคงของรัฐในพื้นที่ชายแดน 
  • อุดมการณ์ของตำรวจตระเวนชายแดน 
  1. เทิดทูนและดำรงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเอกลักษณ์ของความเป็นไทย รักษาไว้ซึ่งระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 
  2. ความอยู่รอดของชาติ และความสงบสุข ของประชาชน อยู่เหนือชีวิต และความเหนื่อยยาก ของตำรวจตระเวนชายแดน 
  3. ตำรวจตระเวนชายแดนทุกนาย จะต้องมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ประหยัด ขยันหมั่นเพียร มี คุณธรรมรับใช้ประชาชน และมีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ยุติธรรม สามารถพึ่งตนเองได้ 
  • เป้าประสงค์ของตำรวจตระเวนชายแดน 
  1. พื้นที่ชายแดน และพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคง ปลอดภัยจากภัยคุกคาม 
  2. ประชาชนได้รับความปลอดภัย เสมอภาค เป็นธรรมและอยู่ดีมีสุข 
  • พันธกิจของตำรวจตระเวนชายแดน 
  1. ถวายความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทน พระองค์ และพระราชอาคันตุกะ อย่างมีประสิทธิภาพ สมพระเกียรติ และรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ 
  2. เฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ด้านความมั่นคงของรัฐในพื้นที่ชายแดน 
  3. รักษาความสงบเรียบร้อยป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ของรัฐ 
  4. พัฒนาและช่วยเหลือประชาชนเพื่อความมั่นคงของรัฐ 
  5. สนองงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 
  6. ดำรงความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านในระดับพื้นที่ 
  7. พัฒนาหน่วยและระบบบริหารจัดการที่ดี 

การจัดโครงสร้างหน่วยกำลัง ตำรวจตระเวนชายแดน 

  • กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 
  1. กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (ค่ายบดินทรเดชา อ.มะขาม จ.จันทบุรี) รับผิดชอบ  
  2. กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 12 (ค่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว) 
  3. กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 13 (ค่ายพระพุทธยอดฟ้า อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี) 
  4. กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 (ค่ายพระมงกุฎเกล้า อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์) 
  • กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 2 
  1. กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 21 (ค่ายสุรินทรภักดี อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์) 
  2. กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 22 (ค่ายสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี) 
  3. กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 23 (ค่ายศรีสกุลวงศ์ อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร) 
  4. กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 (ค่ายเสนีย์รณยุทธ อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี 
  • กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 
  1. กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 31 (ค่ายเจ้าพระยาจักรี อ.เมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก) 
  2. กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 (ค่ายพญางำเมือง อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา) 
  3. กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 (ค่ายสมเด็จพระบรมราชชนนี อ.สันทราย จ.เชียงใหม่) 
  4. กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 34 (ค่ายพระเจ้าตาก อ.เมืองตาก จ.ตาก) 
  • กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4 
  1. กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 41 (ค่ายอาภากรเกียรติวงศ์ อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร) 
  2. กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 42 (ค่ายศรีนครินทรา อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช) 
  3. กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 (ค่ายรามคำแหง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา) 
  4. กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 (ค่ายพญาลิไทย อ.เมืองยะลา จ.ยะลา) 

โครงสร้างหน้าที่ความรับผิดชอบของกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1-4  

  •  ฝ่ายอำนวยการ มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนี้ 
  1. งานธุรการและงานสารบรรณ 
  2. งานบริหารงานบุคคล 
  3. งานคดีและวินัย งานกฎหมาย 
  4. งานสวัสดิการ 
  5. งานเลขานุการ 
  6. งานศึกษาอบรม 
  7. งานบันทึก ตรวจสอบ ควบคุม และรายงานข้อมูลสถานภาพกำลังพลของข้าราชการตำรวจในสังกัด รวมทั้งตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวกับฐานข้อมูลกำลังพลกลางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และดำเนินการเพื่อให้ข้อมูลสถานภาพกำลังพลในความรับผิดชอบเป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นปัจจุบัน 
  8. จัดเวรยามเพื่อรักษาความปลอดภัย ป้องกันและระงับอัคคีภัยสถานที่ราชการของกองบังคับการอำนวยการ 
  9. งานการข่าว 
  10. งานนโยบายและแผน และงานยุทธศาสตร์ 
  11. งานงบประมาณ 
  12. งานส่งกำลังบำรุง 
  13. งานกิจการพลเรือน 
  14. งานประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร 
  15. งานวิจัย ประเมินผล นิเทศงานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 
  16. งานการเงินและงานบัญชี 
  17. งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 
  18. เป็นฝ่ายสนับสนุนของกองบังคับการ มีหน้าที่ในการปฏิบัติงานและสนับสนุนเกี่ยวกับการปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว การสื่อสาร การขนส่ง การบริการสายแพทย์ การรักษาความปลอดภัย ปกครอง บังคับบัญชา อำนวยการ ควบคุม และกำกับดูแลหน่วยงานในสังกัด 
  19. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย 
  20. งานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือมิได้อยู่ในหน้าที่ของฝ่ายใดโดยเฉพาะ 
  21. งานอื่น ๆ ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย 

เส้นทางการรับราชการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.)   

สำหรับเส้นทางการรับราชการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ไม่แตกต่างไปจากข้าราชการตำรวจในหน่วยงานอื่น นอกจากนั้นกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนยังเปิดรับสมัครบุคคลภายนอกสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุแต่งตั้งเข้ารับราชการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เป็นประจำทุกปี เช่น ตำแหน่งครู (ปท1) ในสังกัดต่าง ๆ ของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โดยมีข้อมูลสำคัญที่ผู้สมัครสอบหรือผู้ที่สนใจต้องให้ความสำคัญและติดตามข่าว ได้แก่ 

  1. ตำแหน่งที่เปิดสอบ 
  2. คุณสมบัติของผู้สมัครสอบ 
  3. เกณฑ์การคัดเลือก 

การเปิดสอบนายสิบ ตชด. ประจำปี 2563 

กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เปิดสอบนายสิบตำรวจ ตระเวนชายแดน (ตชด.) เป็นนายสิบตำรวจชาย สายปราบปราม ประจำปี 2563 โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สมัครสอบ ไว้ ดังนี้ 

  • รับเฉพาะเพศชาย อายุ 18-27 ปี (นับแบบวันชนวัน จนถึงวันปิดรับสมัคร) 
  • วุฒิ ม.6/ปวช./กศน. หรือเทียบเท่า  และวุฒิการศึกษา ที่ใช้สอบนายสิบตำรวจ ต้องเรียนจบแล้วเท่านั้น (ภายในวันที่ปิดรับสมัคร เรียนอยู่เทอมสุดท้ายไม่ได้) 
  • ส่วนสูงไม่น้อยกว่า 160 ซม. รอบอก 77 ซม. 
  • ไม่จำกัดน้ำหนัก แต่ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ต้องไม่เกิน 35 เพราะถือว่าเป็นโรคอ้วน อันเป็นโรคที่ขัดต่อการรับราชการตำรวจ 
  • กรณีมีรอยสัก เมื่อรวมขนาดทั่วร่างกายต้องไม่เกิน 16 ตร.ซม. โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและชี้ขาด 
  • สายตาต้องปกติ ไม่มีปัญหาสายตาสั้น และ ไม่อนุญาตให้สวมใส่แว่นตาหรือคอนเทคเลนส์เข้าทดสอบสายตา 

วิชาที่ใช้สอบ นายสิบตำรวจ ปราบปราม ตชด. (แนวข้อสอบที่เคยใช้สอบ) 

  • ความสามารถทั่วไป (คณิตศาสตร์) 
  • ภาษาไทย 
  • ภาษาอังกฤษ 
  • กฎหมายที่ประชาชนควรรู้ 
  • ความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 
  • สังคม วัฒนธรรม จริยธรรม และความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน 

การทดสอบร่างกาย (สอบพละ) 

  • ว่ายน้ำ 25 เมตร เกณฑ์การตัดสิน 30 วินาที 
  • วิ่งระยะไกล เกณฑ์การตัดสิน ระยะทาง 1000 เมตร ไม่เกิน 4.55 นาที 
  • ยืนกระโดดไกล เกณฑ์การตัดสิน ไม่น้อยกว่า 100 ซม. 
  • วิ่งเก็บของ 10 เมตร เกณฑ์การตัดสิน ไม่เกิน 13 วินาที 
  • วิ่ง 50 เมตร เกณฑ์การตัดสิน ไม่เกิน 10 วินาที 

สำหรับจำนวนการเปิดรับสมัครนายสิบตำรวจ ตชด. ปราบปราม เปิดรับทั้งหมด 3,000 อัตรา โดย เปิดสอบรอบละ 1,000 อัตรา และสอบผ่านไปแล้ว 2 รอบ ส่วนกำหนดเปิดรับและสอบในรอบที่ 3 เนื่องจากประสบปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การเปิดรับและสอบเลื่อนออกไป ผู้ที่สนใจจึงต้องเตรียมความพร้อมและติดตามข่าวการเปิดรับจากสื่อต่าง ๆ หรือเพื่อไม่ให้พลาดการรับสมัครในรอบนี้ การติวสอบจากศูนย์หรือสถาบันติวสอบ รวมทั้งการซื้อคอร์สติวสอบตำรวจออนไลน์  เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่นอกจากจะเป็นการเตรียมความรู้ในการสอบแล้ว ยังทำให้ได้รับทราบข้อมูลการเปิดรับสมัครและสอบที่แน่นอนจากสถาบันติวสอบอีกด้วย