รวมข้อมูลเกี่ยวกับ ‘ทหารอากาศ’ ฉบับจัดเต็ม

3242
รวมข้อมูลเกี่ยวกับ ‘ทหารอากาศ’ ฉบับจัดเต็ม
รวมข้อมูลเกี่ยวกับ ‘ทหารอากาศ’ ฉบับจัดเต็ม

มารู้จักกับอาชีพสุดเท่อย่างทหารอากาศกัน

ก่อนจะมารู้จักกับคำว่า ‘ทหารอากาศ’ ขอเกริ่นประวัติความเป็นมาสักเล็กน้อย ว่าอาชีพทหารอากาศนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร

กองทัพอากาศไทย (อักษรย่อ: ทอ., อังกฤษ: Royal Thai Air Force : RTAF) เกิดขึ้นภายหลังจากการจัดตั้งกองทัพอากาศฝรั่งเศสเพียง 4 ปี ซึ่งเป็นกองทัพอากาศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ก่อตั้งกองทัพอากาศเป็นหน่วยแรกของโลก จึงสามารถพูดได้ว่ากองทัพอากาศไทยเป็นองค์กรหรือหน่วยงานทางทหารที่ก่อตั้งเป็นลำดับต้นแรก ๆ ของเอเชีย และในช่วงก่อตั้งกองทัพอากาศไทยก็ไปตรงกับเหตุการณ์ที่มีกรณีพิพาทไทย-อินโดจีนฝรั่งเศส ในสมัยราชการที่ 6 พอดี

ในปีพุทธศักราช 2554 กองทัพอากาศไทยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท Saab ซึ่งเป็นบริษัทอากาศยานและการป้องกันชั้นนำของสวีเดน ในการมองฝูงบิน Gripen และเครื่องบินเตือนภัยทางอากาศ นอกจากนี้ยังชุบชีวิตฝูงบิน F-16-A/B ให้มีมาตรฐานเท่ากับรุ่น C/D จึงทำให้กองทัพอากาศไทยมีอิทธิพลทางอากาศมากเป็นอันดับที่สองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากสิงคโปร์ ในแง่ของขีดความสามารถและความทันสมัยของอากาศยาน

ปัจจุบันกองทัพอากาศไทยนั้น มีกองบัญชาการอยู่ที่เขตสายไหม เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร โดยมีกำลังทางอากาศทั้งสิ้น 11 กองบิน กับ 1 โรงเรียนการบิน รวมทั้งอากาศยานอีกประมาณ 320 ลำ และบุคลากรที่ทำงานในกองทัพอากาศไทยจะเป็นใครไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่ ‘ทหารอากาศ’

สำหรับภารกิจสำคัญของกองทัพอากาศคือการเตรียมกำลังกองทัพอากาศ การป้องกันราชอาณาจักร และดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังกองทัพอากาศตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม ภายใต้คำสั่งของผู้บังคับบัญชาการทหารอากาศ

พออ่านมาถึงตรงนี้ก็เริ่มรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของกองทัพอากาศไทยกันแล้วใช่ไหม แต่ถ้าอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอากาศล่ะ จะต้องทำอย่างไร ร่วมหาคำตอบกันได้หัวข้อถัดไปกันเลย

ทหารอากาศกับหน้าที่ของพวกเขา

ทหารในกองทัพอากาศก็มีการปฏิบัติหน้าที่แตกต่างกันไปถึง 23 เหล่ากันเลยทีเดียว ว่าแต่จะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน !

  1. เหล่าทหารนักบิน ก็มีหน้าที่ตามชื่อตำแหน่งเลย คือเป็น ‘นักบิน’ นั่นเอง ซึ่งเขาก็แบ่งหน้าที่นักบินเป็นประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักบินขับไล่ นักบินโจมตี นักบินตรวจการณ์ หรือนักบินทิ้งระเบิด นอกจากนี้ภารกิจของนักบินก็ยังมีการขนส่งทางอากาศ การลาดตะเวนทางอากาศ รวมไปถึงภารกิจทางอากาศอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนหน่วยทหารภาคพื้นดิน
  2. เหล่าทหารต้นหน มีหน้าที่แนะนำนักบินในเรื่องทิศทางการบิน ประสานกับหอบังคับการบินในขณะที่บินอยู่ในอากาศ
  3. เหล่าทหารตรวจการณ์ มีหน้าที่ลาดตระเวนทั้งทางอากาศและทางพื้นดิน เพื่อแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบถึงสถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น
  4. เหล่าทิ้งระเบิด ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทิ้งระเบิด เพื่อทำลายเป้าหมายทางพื้นดินตามภารกิจที่ผู้บังคับบัญชากำหนด
  5. เหล่าทหารสื่อสาร ทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดหา เก็บรักษา เบิกจ่าย ค้นคว้า สร้างซ่อมตรวจ และให้คำแนะนำเรื่องเกี่ยวกับการสื่อสาร ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ในการสื่อสาร
  6. เหล่าทหารสรรพาวุธ ทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดหา เก็บรักษา เบิกจ่าย สร้าง ซ่อมตรวจ ทดลองค้นคว้า และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการสรรพาวุธ ตลอดจนถึงสงครามเคมี เชื้อโรคและปรมาณู
  7. เหล่าทหารอากาศโยธิน ทำหน้าที่ป้องกันสนามบิน สถานที่สำคัญของกองทัพอากาศจากการรุกรานทางพื้นดินและทางอากาศ
  8. เหล่าทหารขนส่ง ทำหน้าที่เกี่ยวกับการขนส่ง เก็บรักษาเบิกจ่าย รับผิดชอบการจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการขนส่งให้แก่หน่วยต่าง ๆ ในกองทัพอากาศให้เป็นปัจจุบัน
  9. เหล่าทหารสารวัตร ทำหน้าที่ตรวจตรา ควบคุม ข้าราชการกองทัพอากาศ ให้อยู่ในระเบียบวินัยทหารกับมีหน้าที่รักษาความสงบ รักษาความปลอดภัยให้แก่บุคคล และสถานที่ราชการกองทัพอากาศ
  10. เหล่าทหารช่างอากาศ ทำหน้าที่ในการจัดหา เก็บรักษา เบิกจ่ายและซ่อมเครื่องมือ เครื่องยนต์ อุปกรณ์การบินต่าง ๆ ของกองทัพอากาศ
  11. เหล่าทหารพลาธิการ ทำหน้าที่ในการจัดหา เก็บรักษา เบิกจ่าย เครื่องอุปโภคบริโภค กับการสัมภาระทั้งปวง รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ในหน่วยงานต่าง ๆ ตามนโยบายของกองทัพอากาศ
  12. เหล่าทหารช่างโยธา ทำหน้าที่ในการซ่อม – สร้างสนามบิน ถนน อาคาร การไฟฟ้า ประปา หรือปัจจัยในการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานทั้งปวง ตลอดจนการจัดหา เก็บรักษา เบิกจ่าย เครื่องมือเครื่องใช้แก่หน่วยต่าง ๆ ตามนโยบายกองทัพอากาศ
  13. เหล่าทหารแผนที่ มีหน้าที่ทำแผนที่ สำรวจเส้นทาง แก้ไขและเพิ่มเติมรายละเอียดของตำบลต่าง ๆ ในแผนที่ให้ถูกต้องตามปัจจุบัน
  14. เหล่าทหารอุตุนิยมวิทยา ทำหน้าที่พยากรณ์อากาศที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการบิน และนำความรู้จากศาสตร์อุตุนิยมวิทยามาใช้งาน
  15. เหล่าถ่ายรูป ทำหน้าที่ถ่ายรูปทั้งทางพื้นดินและทางอากาศ
  16. เหล่าทหารการเงิน ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน การบัญชี การงบประมาณ การตรวจเงิน ตลอดจนการตรวจสอบ ควบคุมการจ่ายเงินให้เป็นไปตามแบบธรรมเนียมของราชการ
  17. เหล่าพระธรรมนูญ ทำหน้าที่ทางกฎหมายและศาลทหาร
  18. เหล่าทหารดุริยางค์ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการดุริยางค์ การบรรเลงเพื่อกล่อมขวัญทหารของกองทัพอากาศ
  19. เหล่าทหารสารบรรณ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานสารบรรณและงานธุรการทั่วไปในกองทัพอากาศ
  20. เหล่าทหารแพทย์ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ค้นคว้าในด้านการแพทย์ วางนโยบายการสุขาภิบาล รับผิดชอบในการจัดหา เก็บรักษา เบิกจ่ายเวชภัณฑ์ต่าง ๆ
  21. เหล่าทหารพลร่ม ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรบพิเศษ การรบแบบกองโจร การช่วยเหลือค้นหาเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น
  22. เหล่าทหารพัสดุ ทำหน้าที่เกี่ยวกับพัสดุ การจัดหา เก็บรักษา แจกจ่ายพัสดุต่าง ๆ ให้กับหน่วยในกองทัพอากาศ
  23. เหล่าทหารวิทยาศาสตร์ มีหน้าที่วางแผนอำนวยการ ประสานงาน ให้การศึกษาวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการสร้างอาวุธยุทธภัณฑ์ที่สำคัญ ซึ่งต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงมาดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นด้านเคมี ชีวภาพ รังสี รวมไปถึงกิจการวิทยาศาสตร์ การใช้เครื่องจักรคำนวณสนับสนุนในการวิจัยระบบอาวุธยุทธภัณฑ์ การส่งกำลังบำรุงและการบริหารงานของกองทัพอากาศและให้การสนับสนุนแก่สถานวิจัยของส่วนราชการ ประสานงานกับทางโรงงานอุตสาหกรรมของส่วนราชการ รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อนำผลสรุปที่ได้มาใช้ในการสร้างอาวุธยุทธภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ให้การศึกษาและควบคุมตรวจตรากิจการในสายวิทยาการเหล่าทหารวิทยาศาสตร์ด้วย

เส้นทางสู่การเป็นทหารอากาศ

สำหรับคนที่พึ่งจบมัธยมต้น หรือมีวุฒิม.3 อยู่แล้ว

  • โรงเรียนดุริยางค์ทหารอากาศ
    • ผู้สมัครจะต้องมีอายุระหว่าง 15 – 18 ปี มีความสามารถทางดนตรีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ (ส่วนใหญ่จะเป็นด้านวงโยธาวาทิต ดุริยางค์ และเครื่องสาย) ในแต่ละปีจะรับเพศชายจำนวน 15 – 17 คน และเพศหญิงจำนวน 5 คน
    • เมื่อจบการศึกษาหลักสูตร 3 ปีแล้ว จะได้รับวุฒิปวช. ดนตรี และแต่งตั้งยศเป็นจ่าอากาศตรี บรรจุงานตามกองดุริยางค์ทหารอากาศทั่วประเทศ
  • โรงเรียนช่างฝีมือทหาร
    • หน่วยงานภาคปกติจะรับผู้สมัครอายุ 15 – 18 ปี เพศชาย แต่ละปีเปิดรับผู้สมัครประมาณ 250 – 300 คน เมื่อจบการศึกษาหลักสูตร 3 ปี จะได้รับวุฒิปวช. ตามสาขาช่างที่เลือกศึกษา และแต่งตั้งยศเป็นจ่าอากาศตรี บรรจุงานในกองทัพอากาศ กองทัพไทย และกองทัพบก ซึ่งการจะได้บรรจุที่หน่วยงานใดนั้น ขึ้นกับผลคะแนนสอบหรือผลการศึกษาของแต่ละคน
  • โรงเรียนเตรียมทหาร
    • ผู้สมัครจะต้องมีอายุ 15 – 18 ปี เพศชาย แต่ละปีเปิดรับผู้สมัครจำนวน 84 นาย เมื่อจบการศึกษาหลักสูตร 2 ปีจากร.ร.เตรียมทหารแล้ว จะได้รับวุฒิ ม.6 สายวิทย์ – คณิต และเข้าเรียนต่อปริญญาตรีที่โรงเรียนนายเรืออากาศทันทีโดยไม่มีการสอบคัดเลือก เมื่อเรียนจบ 5 ปี จะได้รับการแต่งตั้งยศเป็นเรืออากาศตรี บรรจุทำงานในกองทัพอากาศ ส่วนใหญ่จะได้รับคัดเลือกเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนการบินกำแพงแสน เพื่อเป็นนักบินของกองทัพอากาศ และมีการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกายเพื่อต่อยอดในการฝึกหลักสูตรต่าง ๆ เช่น หน่วยปฏิบัติการพิเศษคอมมานโด เป็นต้น

หมายเหตุ: นักเรียนนายเรืออากาศชั้นปีที่ 1 ที่มีผลการเรียนดีจะได้รับทุนการศึกษาต่อที่โรงเรียนนายเรืออากาศต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่ ญี่ปุ่น สเปน สหรัฐอเมริกา หรือฝรั่งเศส

สำหรับคนที่มีวุฒิ ม.6

  • โรงเรียนจ่าอากาศ
    • ผู้สมัครจะต้องมีอายุระหว่าง 17 – 20 ปี เพศชาย แต่ละปีรับ 393 อัตรา แบ่งเป็นหน่วยพลเรือน 375 อัตรา และทหารกองหนุนที่ปลดจากทหารเกณฑ์ของกองทัพอากาศ 18 อัตรา เมื่อจบการศึกษาหลักสูตร 2 ปี จะได้รับการแต่งตั้งยศเป็นจ่าอากาศตรี บรรจุงานในกองทัพอากาศ
    • หมายเหตุ
      • ทหารกองหนุน จะเลือกได้เฉพาะเหล่าอากาศโยธินกับเหล่าทหารสารวัตรเท่านั้น
      • วุฒิ ม.6 แผนวิทย์ – คณิต เลือกได้ 6 เหล่า คือ เหล่าทหารต้นหน เหล่าทหารช่างอากาศ เหล่าทหารสื่อสาร เหล่าทหารสรรพาวุธ เหล่าทหารอากาศโยธิน และเหล่าทหารสารวัตร
      • วุฒิ ม.6 แผนอื่น เลือกได้ 5 เหล่า คือ เหล่าทหารช่าง เหล่าทหารสื่อสาร เหล่าทหารสรรพาวุธ เหล่าทหารอากาศโยธิน เหล่าทหารสารวัตร
  • วิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศ
    • คุณสมบัติของผู้สมัคร คือ จบ ม.6 แผนวิทย์ – คณิต เป็นชาย-หญิง สถานภาพโสด มีอายุระหว่าง 17 – 22 ปี เพศหญิงต้องสูงไม่ต่ำกว่า 155 เซนติเมตร น้ำหนัก 40 – 65 กิโลกรัม เพศชายจะต้องสูงไม่ต่ำกว่า 161 เซนติเมตร หนักไม่น้อยกว่า 49 กิโลกรัม ไม่มีรอยสักบนร่างกาย
      • หากต้องการได้ยศเรืออากาศตรี จะต้องสมัครในส่วนทุนกองทัพอากาศ ซึ่งแต่ละปีจะรับเพศหญิงจำนวน 30 คน เพศชายจำนวน 6 คน
      • สำหรับคนที่เรียนโดยทุนของตัวเอง เมื่อจบแล้วจะไม่มีข้อผูกมัดกับทางราชการ และจะไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการทหาร ซึ่งเงื่อนไขนี้รับเฉพาะเพศหญิงจำนวน 20 คน อย่างไรก็ตามคนที่เรียนด้วยทุนตัวเองจะได้รับการพิจารณาเป็นอันดับแรกเมื่อกองทัพอากาศต้องการกำลังพล หรือบางครั้งก็กำหนดโควตาเฉพาะอีกด้วย สำหรับการคัดเลือกจะใช้วิธีการยื่นคะแนน o-net gat และ pat 2 เมื่อจบการศึกษาหลักสูตร 4 ปี จะได้รับวุฒิ ป.ตรี พยาบาลศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถนำไปใช้สอบใบประกอบวิชาชีพได้ สำหรับคนที่ต้องใช้ทุนกองทัพอากาศจะได้รับการแต่งตั้งยศเป็นเรืออากาศตรี / เรืออากาศตรีหญิง บรรจุงานตามโรงพยาบาลทหารในส่วนของกองทัพอากาศ
  • วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
    • คุณสมบัติของผู้สมัคร คือ จบ ม.6 สายวิทย์ – คณิต เป็นชาย – หญิง สถานภาพโสด อายุไม่เกิน 20 ปี เพศชายสูงไม่ต่ำกว่า 160 เซนติเมตร เพศหญิงสูงไม่ต่ำกว่า 150 เซนติเมตร
      • หากต้องการจะได้รับการติดยศร้อยตรี จะต้องสมัครในส่วนของทุนกองทัพบก (รับเฉพาะเพศชาย) โดยรับจำนวนปีละ 20 คน ส่วนทุนส่วนตัวรับจำนวน 80 คน (ชาย 40 หญิง 40) เมื่อจบการศึกษาอาจได้รับการแต่งตั้งยศของโควตาเหล่าทัพต่าง ๆ แต่ถ้าเรียนเก่ง ทำคะแนนได้อยู่ในลำดับตามโควตาที่กำหนด ก็จะได้รับการติดยศทันที (มีทั้ง ทบ. ทร. ทอ.)
      • สำหรับการคัดเลือกจะใช้วิธีการยื่นคะแนนเหมือนเข้าคณะแพทย์ทั่วไป (แต่ต้องยื่น สมัครกับ วพม. ด้วย) เมื่อจบการศึกษาหลักสูตร 6 ปี จะได้รับวุฒิ ป.ตรี แพทยศาสตรบัณฑิต
  • สอบบรรจุชั้นประทวน (จ่าอากาศตรี) ตามปีงบประมาณ
    • ผู้สมัครจะต้องมีอายุระหว่าง 18 – 30 ปี รับทั้งเพศชายและหญิง ตำแหน่งที่รับสมัครเป็นประจำ คือ เสมียน เจ้าหน้าที่สารวัตร เจ้าหน้าที่กำลังพล เจ้าหน้าที่นิรภัย เจ้าหน้าที่วัสดุ และจะรับสมัครช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ของทุกปี สามารถตามข่าวสารได้จากกรมกำลังพลทหารอากาศ

สำหรับคนที่มีวุฒิ ปวช.

  • โรงเรียนจ่าอากาศ
    • ผู้สมัครจะต้องมีอายุระหว่าง 17 – 20 ปี โดยจะรับเพศชาย จำนวน 393 อัตรา แบ่งเป็นฝ่ายพลเรือน 375 อัตรา และฝ่ายทหารกองหนุนที่ปลดจากทหารเกณฑ์ของกองทัพอากาศ 18 อัตรา เมื่อจบการศึกษาหลักสูตร 2 ปี จะได้รับการแต่งตั้งยศเป็นจ่าอากาศตรี บรรจุงานในกองทัพอากาศ
    • หมายเหตุ ทหารกองหนุน จะเลือกได้เฉพาะเหล่าอากาศโยธินและเหล่าทหารสารวัตรเท่านั้น โดยวุฒิ ปวช. เลือกได้ 5 เหล่า คือ เหล่าทหารช่างอากาศ เหล่าทหารสื่อสาร เหล่าทหารสรรพาวุธ เหล่าทหารอากาศโยธิน เหล่าทหารสารวัตร
  • สอบบรรจุชั้นประทวน (จ่าอากาศตรี) ตามปีงบประมาณ
    • ผู้สมัครจะต้องมีอายุระหว่าง 18 – 30 ปี รับทั้งเพศชายและหญิง สำหรับสาขาที่รับสมัครเป็นประจำ คือ บัญชี การเงิน การธนาคาร ยานยนต์ ไฟฟ้า สำรวจ เขียนแบบ อิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้าง คอมพิวเตอร์ และถ่ายภาพ และจะรับสมัครช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ของทุกปี สามารถตามข่าวสารได้จากกรมกำลังพลทหารอากาศ

สำหรับคนที่มีวุฒิ ป.ตรี

  • สอบบรรจุชั้นสัญญาบัตร (เรืออากาศตรี) ตามปีงบประมาณ
    • ผู้สมัครจะต้องมีอายุระหว่าง 18 – 35 ปี รับทั้งเพศชายและหญิง สำหรับสาขาที่เปิดรับสมัครเป็นประจำ คือ บัญชี การเงิน การธนาคาร คอมพิวเตอร์ ไฟฟ้า เครื่องกล อิเล็กทรอนิกส์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ สถาปัตยกรรมบรรณารักษ์ สถิติ กายภาพบำบัด สังคมสงเคราะห์ นิติศาสตร์ สาธารณสุข ภาษาอังกฤษ รัฐศาสตร์/รัฐประศาสนศาสตร์สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พุทธศาสตรบัณฑิต /เปรียญธรรม9 สำหรับการรับสมัครจะอยู่ช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ของทุกปี สามารถตามข่าวสารได้จากกรมกำลังพลทหารอากาศ

นอกจากนี้ยังมีการรับบุคคลทางด้านการแพทย์โดยตรงจากกรมแพทย์ทหารอากาศ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ หรือแพทย์สาขาต่าง ๆ

ทหารอากาศกับเงินเดือนของพวกเขา

ตามลำดับขั้นของข้าราชการทั่วไป ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ : ตารางเทียบชั้นเงินเดือนกรมกำลังพลทหารอากาศ

วิธีสมัครทหารอากาศ

สามารถติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์: rtaf-recruit