นายร้อยตำรวจหญิง คำนำหน้าชื่อที่โดนตีค่าแค่ 10 รุ่น

334
นายร้อยตำรวจหญิง-คำนำหน้าชื่อที่โดนตีค่าแค่-10-รุ่น
นายร้อยตำรวจหญิง-คำนำหน้าชื่อที่โดนตีค่าแค่-10-รุ่น

ในปี 2552 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับวงการตำรวจไทยด้วยการเปิด รับสมัครนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง ครั้งแรกใน 107 ปี แต่ประวัติศาสตร์นี้กลับขับเคลื่อนบนทางตัน เพราะได้มีคำสั่งให้ยุติการรับสมัครนักเรียนนายร้อยหญิงไปเรียบร้อยแล้ว

นายร้อยตำรวจหญิง คำนำหน้าชื่อที่โดนตีค่าแค่ 10 รุ่น

จากบันทึกข้อความวันที่ 28 สิงหาคม 2561 ที่มีใจความสำคัญว่า ขอยกเลิกการจัดสรรอัตราในการรับสมัครและสอบคัดเลือกข้าราชการตำรวจและบุคคลภายนอกหญิง เข้าเป็น นายร้อยตำรวจ โดยไม่มีกำหนด ได้สร้างประเด็นถกเถียงในสังคมไทยเป็นอย่างมาก โดยมีข้อความจากชาวเน็ตจำนวนมาก อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิสตรีได้ออกมาแสดงความเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับประกาศดังกล่าว

โดยกลุ่มสิทธิสตรีมองว่าความเคลื่อนไหวนี้ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมทางเพศและปฏิญญาของสหประชาชาติเกี่ยวกับความก้าวหน้าของสตรี และทำให้บทบาทสตรีในวงการตำรวจถดถอยลง นอกจากนี้ยังกระทบสิทธิผู้หญิงในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมระยะยาวอีกด้วย

แม้ในช่วงเวลานั้นรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะกล่าวว่า การยกเลิกนายร้อยตำรวจหญิงนั้นไม่ใช่การตัดสิทธิการเข้ารับราชการตำรวจของผู้หญิง เพราะยังมีช่องทางอื่นๆ ที่ผู้หญิงสามารถเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ เช่น การเปิดรับบุคคลภายนอกที่มีคุณวุฒิในสาขาต่างๆ

แต่ในทางกลับกัน สิ่งที่ต้องการจะสื่อกับสังคมของประกาศนี้จะใช่การลดโอกาสของผู้หญิงที่จะเข้ามาทำงานในหน่วยข้าราชการตำรวจหรือไม่ ก็ยังไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้เช่นกัน

ทำไมต้องมีนายร้อยตำรวจหญิง คำถามที่ไม่เคยออกจากปากของผู้หญิง

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ นรต.หญิง จะมีเพียง 10 รุ่นเท่านั้น รุ่น 66-75 ถือเป็นเกียรติประวัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ครั้งหนึ่งเคยมีนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง เป็นข้อความจากแอดมินเพจพนักงานสอบสวนหญิงเขียนไว้หลังจากที่ได้มีคำสั่งยุติการรับสมัครนายร้อยตำรวจหญิง ได้สร้างความสงสัยว่าทำไมถึงต้องใช้คำว่า ครั้งหนึ่ง ในการถ่ายทอดข้อความนี้ออกมา หรือนี่คือลางบอกเหตุว่าจะไม่มีการรับสมัครนายร้อยตำรวจหญิงอีกแล้ว เพียงเพราะว่าการจะเป็นนายร้อยจำเป็นต้องผ่านหลักสูตรจากเตรียมทหารมาเสียก่อน

ถ้าเช่นนั้นกระทรวงกลาโหมจะปรับหลักสูตรของโรงเรียนเตรียมทหารเพื่ออำนวยต่อการสร้างนายร้อยตำรวจหญิงในอนาคตหรือไม่ ก็ยังคงเป็นคำถามที่ไร้คำตอบเช่นเคย

หากเปลี่ยนจากจุดที่มองอยู่ในปัจจุบันกลับไปยังประวัติศาสตร์ในอดีต จะเห็นว่าผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อสังคมอย่างมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จากก่อนหน้านั้นที่พวกเธอถูกมองว่าเป็นดั่งของสะสม หรือค่านิยมของเพศตรงข้าม กลับได้ตระหนักถึงการใช้ชีวิตที่ไร้ผู้ปกครองประจำบ้าน รวมถึงการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง จากที่เคยถูกห้ามไม่ให้ทำงานในบริษัท กลับจะต้องมานั่งเก้าอี้พนักงานเสียเอง เพราะตอนนั้นเหล่าชายฉกรรจ์เกือบทั้งหมดต่างได้ถูกเกณฑ์ให้ไปออกรบในสงครามครั้งนั้น และช่วงเวลาที่ไร้การกดขี่ทางความคิดจากเพศตรงข้ามในตอนนั้น ทำให้ผู้หญิงตระหนักได้อีกอย่างว่า ฉันไม่จำเป็นต้องอยู่ในความปกครองของใคร เพราะฉันสามารถทำงานและดูแลตัวเองได้ ซึ่งสิ่งที่สะท้อนแนวคิดนี้มาจากเครื่องแต่งกายของผู้หญิงในศตวรรษที่ 20 จากที่ผู้หญิงจะต้องใส่แต่กระโปรงหรือชุดคอร์เซตเท่านั้น กลับมีการตัดกางเกงสำหรับผู้หญิง การตัดชุดทำงาน รวมไปถึงชุดสูทสำหรับผู้หญิงในสมัยนั้น

ภายหลังจึงได้มีการเรียกร้องสิทธิสตรีเพิ่มขึ้น จนทำให้ปัจจุบันผู้หญิงมีบทบาทในการทำงาน รวมทั้งเป็นแรงขับเคลื่อนในสังคมไม่ต่างกับผู้ชายเลยทีเดียว

ตัดภาพมาที่ประเทศไทยกับประเด็นดังกล่าว พร้อมคำถามที่มักจะได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า ทำไมถึงต้องมีตำรวจ-ทหารหญิง แล้วมีความจำเป็นแค่ไหนกันที่จะต้องมีผู้หญิงในหน่วยงานดังกล่าว แม้ว่าคำตอบของคำถามนี้จะชัดเจนมากว่า พนักงานสอบสวนหญิงเป็นกลไกสำคัญ และเป็นกระบวนการยุติธรรมต้นทางที่ช่วยดูแลปกปักรักษา คุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดสิทธิ์ รวมถึงเหตุความรุนแรงภายในครอบครัว (คำกล่าวของ น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม)

เพราะถ้าพิจารณาถึงคดีล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นรายวัน พนักงานสอบสวนหญิงถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการไขคำให้การของเหยื่อที่มีสภาพจิตใจบอบช้ำและย่ำแย่เต็มทน เพราะผู้เสียหายกล้าที่จะเปิดใจถ่ายทอดเหตุการณ์อันเลวร้ายกับตำรวจหญิงมากกว่าตำรวจชาย และนี่คือข้อเท็จจริงที่ถูกยอมรับ

นอกจากนี้ ผู้หญิงในองค์กรมีความสามารถในการสื่อสารที่ช่วยลดความผันผวนของสถานการณ์ และช่วยยับยั้งความรุนแรงให้เบาบางลง โดยข้อความนี้มีข้อมูลจากงานวิจัยหลายชิ้นที่ออกมาสนับสนุน ตัวอย่างเช่นรายงานจาก National Center for Women and Policing ที่กล่าวว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะแสดงความก้าวร้าว และลุกขึ้นมาจับอาวุธน้อยกว่าผู้ชาย นอกจากนั้นพวกเธอยังมีความสามารถในการคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียด โดยไม่ใช้กำลังได้ดีกว่าผู้ชาย โดยมีประชาชนเพียง 5% เท่านั้นที่ร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงใช้กำลังเกินกว่าเหตุ

หากจะมองว่าเหตุการณ์นี้เป็นการลิดลอนสิทธิสตรี ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลหรือเป็นเรื่องเกินเหตุกันแน่ เพราะสุดท้ายแล้วในหน่วยงานราชการไทย หรือแม้แต่ในสำนักตำรวจเองนั้นก็ยังคงมีสตรีอยู่ในองค์กร

แต่ก็ไม่อาจจะปฏิเสธได้เหมือนกันว่ามีบางตำแหน่งหรือบางสายงานที่จำกัดแค่เพศชายเท่านั้น หรือแม้แต่การหายไปของนายร้อยตำรวจหญิงก็คือสิ่งที่แสดงถึงข้อจำกัดทางเพศต่อหน่วยงานนี้ได้เป็น แม้ความเท่าเทียมกันทางเพศจะเป็นคำพูดที่ฟังดูห่างไกลจากความเป็นจริงเหลือเกิน แต่เราก็ยังคงมีความหวังว่า ในอนาคตจะมีนายร้อยตำรวจหญิงรุ่นที่ 11 เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกครั้ง